บทความ

2024: THE ELECTION YEAR

26/02/2567

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

2024 เป็นปีที่พิเศษอย่างยิ่ง หนึ่งในความพิเศษคือการเป็นปีแห่งการเลือกตั้งโดย 64 ประเทศ (รวมสมาชิก EU) ที่มี GDP ถึงร้อยละ 60 และประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งโลกจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปีนี้ ซึ่งการเปลี่ยน-ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้นำและพรรคการเมืองย่อมส่งผลต่อนโยบายเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเมืองภายใน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ช่วงไตรมาสแรกของปี การเลือกตั้งที่หลายฝ่ายจับตามองได้แก่ ไต้หวัน พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ได้รับชัยชนะในเดือน ม.ค. และครองอำนาจการบริหารเป็นสมัยที่ 3 อินโดนีเซีย จากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ว่าที่ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต และว่าที่รองประธานาธิบดีจิบราน รากาบูมิง บุตรชายของอดีตประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ประกาศสานต่อโครงการด้านเศรษฐกิจ แผนการย้ายเมืองหลวง และนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของผู้นำท่านเดิม ตามด้วยการเลือกตั้งของรัสเซีย ในเดือน มี.ค. ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูตินจะได้รับชัยชนะเป็นสมัยที่ 5 และดํารงตําแหน่งต่อไปจนถึงปี 2030

ในช่วงเม.ย.-พ.ค. อินเดีย นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีน่าจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 และอยู่ในอำนาจต่อไปอีก 5 ปีทำให้นโยบายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนภาคการผลิตและดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศที่วางไว้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็ยังคงรอดูนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการวางตัวท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของอินเดีย สหภาพยุโรป การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปจำนวน 720 คน โดยผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกว่า 400 ล้านคนจาก 27 ชาติสมาชิกในช่วงเดือน มิ.ย. จะส่งผลต่อนโยบายของกลุ่ม EU ในประเด็นต่างๆ เช่น สงครามรัสเซียและยูเครน มาตรการด้านเศรษฐกิจ ปัญหาผู้ลี้ภัย การขาดแคลนพลังงาน ฯลฯ

สำหรับช่วงครึ่งหลังของปีผลการเลือกตั้งที่ทั้งโลกต่างรอคอยย่อมหนีไม่พ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา การแข่งขันระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะจัดขึ้นในเดือน พ.ย. และเริ่มส่งสัญญาณการต่อสู้ทางการเมืองรวมถึงการใช้จ่ายเงินทุนเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งอย่างดุเดือดมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะเป็นตัวกำหนดทิศทางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า-สงครามเทคโนโลยี และนโยบายด้านความยั่งยืนของสหรัฐฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้าอีกด้วย

ลำดับสุดท้ายในเดือนธ.ค. ถึงต้นปี 2025 การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร ระหว่างพรรคอนุรักษ์นิยมขั้วการเมืองฝ่ายกลาง-ขวาที่แม้ว่าผลสำรวจปัจจุบันจะมีคะแนนนิยมตามหลังพรรคแรงงานฝ่ายกลาง-ซ้าย แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปผลลัพธ์ที่แน่ชัดเนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2010 พรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษได้ครองอำนาจการบริหารมาโดยตลอด  

ตลอดจนประเทศในทวีปลาตินอเมริกา อาทิ เอลซัลวาดอร์ ปานามา โดมินิกัน เม็กซิโก อุรุกวัย เวเนซุเอลา และเฮติก็จะจัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเช่นกัน ซึ่งหลายประเทศก็กำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ การเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอยหลังโควิด รวมถึงปัญหาร่วมของภูมิภาค เช่น วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าผู้นําใหม่จากการเลือกตั้งจะมีวิธีการรับมือกับปัญหาดังกล่าวเช่นไร

โลกยุคศตวรรษที่ 21 มีความซับซ้อน และประเทศต่างๆ ก็มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมจนแยกจากกันไม่ได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากปีแห่งการเลือกตั้งครั้งนี้จึงย่อมส่งผลทั้งระดับประเทศ ภูมิภาค รวมถึงจะมีส่วนกำหนดทิศทางของโลกอนาคตอย่างแน่นอน