บทความ

EXPLORING SUSTAINABILITY TRENDS IN 2024

19/02/2567

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เชื่อว่าทุกท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งเป็นคำที่พบเห็นในสื่อต่าง ๆ มานานพอสมควร แต่หลังจากที่อุณหภูมิของโลกในเดือนกรกฎาคม 2023 ร้อนกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมาถึง 1.18 องศาเซลเซียส จนทำลายสถิติกลายเป็นเดือนที่ “ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์” ทางองค์การสหประชาชาติจึงได้ออกประกาศเตือนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศว่า เรากำลังสิ้นสุด “ยุคโลกร้อน” และเข้าสู่ “ยุคโลกเดือด” ซึ่งเป็นคำนิยามที่บรรยายถึงสภาพภูมิอากาศของโลกในเวลานี้ได้ดีที่สุด

จากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนแบบสุดขั้วและเกิดภัยพิบัติอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านที่มา เช่น เหตุน้ำท่วมฉับพลันในซาโกรา ประเทศกรีซ เหตุไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแคนาดา รวมทั้งพายุโซนร้อนฮาโรลด์ที่สร้างความเสียหายต่อสหรัฐฯ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งนอกจากภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมแล้วของแถมที่ตามมากับภาวะโลกเดือดคือ ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและปัญหามลภาวะจากทั้งทางอากาศ ดิน และน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างรุนแรงกว่าในอดีตหลายเท่าตัว

จึงไม่แปลกใจที่ปัจจุบันหลายบริษัทชั้นนำต่างตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและตื่นตัวในการเตรียมการเพื่อตั้งรับกับเศรษฐกิจภายใต้ “ภาวะโลกเดือด” อย่างจริงจังผ่านการประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอน การปรับตัวสู่กระแสเศรษฐกิจสีเขียว การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและการลงทุนในระบบกักเก็บพลังงาน ฯลฯ จนทำให้ความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

ในโอกาสนี้ ผู้เขียนจึงขอหยิบยก Sustainability Trends ในปี 2024 ที่จะช่วยเปลี่ยนโลกไปสู่ความยั่งยืนมานำเสนอทั้งหมด 5 เทรนด์ ดังนี้

  1. Climate Fintech: เทคโนโลยีด้านการเงินที่ผนวกมิติด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความสำคัญในการเข้ามาช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมและลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม
  2. ESG Disclosure: การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเป็นสิ่งที่บริษัทต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากกฎระเบียบในหลายประเทศที่เข้มงวดขึ้นและความคาดหวังของนักลงทุนที่มีต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว
  3. Energy Transition: การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน พร้อมกับมาตรการตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกที่เข้มข้นจะเกิดขึ้นเพื่อยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องรายงานเกี่ยวกับมาตรการการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
  4. Data Driven Investment: การใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจลงทุนจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจสีเขียว เนื่องจากภาวะโลกเดือดในปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าพลังแห่งข้อมูลมีผลอย่างไรต่อการบริหารจัดการขององค์กรชั้นนำทั่วโลก ทำให้ในปี 2024 บริษัทที่ลงทุนกับความยั่งยืนจะถูกมองว่ามีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมและลดโอกาสการถูกฟ้องในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมได้
  5. Artificial Intelligence: การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการรับมือกับความท้าทายด้านความยั่งยืนที่ซับซ้อนจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ถึงแม้การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่จะกลายเป็นประเด็นที่ทุกภาคธุรกิจต้องเร่งทำความเข้าใจ ปรับตัว และขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่เพียงแต่เป็นการปฏิบัติตามกฎระเบียบเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางปฏิบัติที่สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย