บทความ
GREEN LOGISTICS
07/12/2565คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในขณะที่เศรษฐกิจและสังคมมีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ภาคอุตสาหกรรมต่างก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเพิ่มมากขึ้นซึ่งย่อมนำไปสู่การเกิดภาวะโลกร้อน (Global warming) ที่เป็นสาเหตุของภัยธรรมชาติและปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง และ พายุผิดฤดูกาล เป็นต้น วิกฤตการณ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ในขณะเดียวกัน ยังได้ทำให้ทุกฝ่ายต่างตื่นตัวในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น
หากพิจารณาตามรายอุตสาหกรรม จะพบว่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์นั้นถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีส่วนก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) และปัญหามลพิษทางอากาศ ในปัจจุบันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 24% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม องค์กร European Environment Agency ก็ได้คาดการณ์ว่า หากปราศจากแนวทางแก้ไข/ มาตรการควบคุมดูแล อุตสาหกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงถึง 40% ภายในปี 2050 เลยทีเดียว
ซึ่งภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เองก็ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและมีความพยายามคิดค้นแนวทางแก้ไข/ ลดผลกระทบอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยแนวความคิดที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคงหนีไม่พ้น Green Logistics ที่เป็นแนวความคิดการบริหารจัดการกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ในทุกมิติ โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผ่านทางการลดต้นทุนโลจิสติกส์ในระยะยาว พร้อมกันนี้ ยังคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน ดังสะท้อนจากการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสะอาด การประหยัดพลังงาน และการจัดเส้นทางขนส่งร่วมเพื่อลดการสร้างมลพิษทางอากาศนั่นเอง
ทั้งนี้ บริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ระดับโลกก็ได้มีการนำแนวความคิด Green Logistics มาปรับใช้ในกิจกรรมการดำเนินงาน รวมถึงการวางกลยุทธ์และทิศทางขององค์กรอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น MAERSK บริษัทผู้ให้บริการ โลจิสติกส์แบบครบวงจร สัญชาติเดนมาร์ก ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ดังจะเห็นได้จากโครงการด้านโลจิสติกส์ที่ยั่งยืน เช่น การนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้ขนส่งพัสดุในเขตเมือง และ ความร่วมมือกับ Taulov Dry Port ท่าเรือในประเทศเดนมาร์ก ในการพัฒนาคลังสินค้าที่มีอัตราปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ หรือ Green warehouse เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ก็ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโลจิสติกส์ในมิติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น WHA Group ที่มุ่งพัฒนาโครงการ Green Logistics โดยมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ในคลังสินค้าอัจฉริยะและศูนย์กระจายสินค้าของกลุ่มบริษัทฯ อีกทั้งยังได้นำเอาพลังงานแสงอาทิตย์ ฉนวนกันความร้อน และระบบควบคุมแสงไฟ/ อุณหภูมิอัจฉริยะมาใช้เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน และกลุ่มบริษัทฯ ยังส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งสีเขียวหรือการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ในระยะยาวอีกด้วย
การผลักดันให้ประเทศไทยสามารถพัฒนายกระดับไปสู่โลจิสติกส์แบบยั่งยืนได้สำเร็จนั้น ไม่เพียงแต่ภาครัฐที่ควรให้ความสนับสนุนผ่านทางการออกมาตรการ/ นโยบายที่เกี่ยวข้อง อาทิ นโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ภาคเอกชนก็ควรเร่งปรับปรุงรูปแบบการดำเนินกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน ประชาชนเองก็ควรสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นเหมือนแรงผลักดันที่ให้เกิดการดำเนินงานภายใต้แนวคิดโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริงนั่นเอง