บทความ
WEB 3.0
15/06/2565คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
วิวัฒนาการของเว็บไซต์นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากข้อจำกัดในการใช้งานของยุคก่อนหน้า เริ่มต้นจากยุค Web 1.0 ที่เป็นการสื่อสารแบบทางเดียวจึงเกิดการพัฒนามาสู่ Web 2.0 หรือยุคปัจจุบันที่รูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนเป็นแบบสองทางโดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม การมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเช่น Facebook, YouTube, Twitter ฯลฯ เข้ามาเกี่ยวข้องนั้นถือเป็นจุดอ่อนของ Web 2.0 เนื่องจากคนกลางเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและพฤติกรรมของผู้ใช้งานได้จึงมักนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล
จากปัญหาข้างต้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด Web 3.0 ที่อาศัยเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาเป็นรากฐานสำคัญในพัฒนาเว็บไซต์แบบกระจายศูนย์ (Decentralized Architecture) โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer เพื่อลดทอนบทบาทของตัวกลางลง จากการที่ให้ผู้ใช้งานเข้ามาเป็นเจ้าของร่วมกันซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ในการพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันและตรวจสอบความโปร่งใสระหว่างกันผ่านระบบองค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Autonomous Organization: DAO) จึงเป็นการเพิ่มความถูกต้องและความปลอดภัยของข้อมูล ตลอดจนทำให้ผู้ใช้งานมีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลและข้อมูลส่วนตัวอย่างแท้จริง
โดยการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Web 3.0 นั้นจะทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงไปจากการที่รูปแบบการให้บริการของแพลตฟอร์มนั้นเปลี่ยนไปสู่โมเดลที่เรียกว่า X to Earn หรือการที่ผู้ใช้งานจะได้รับ Token เป็นการตอบแทนจากการทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น Play to Earn, Learn to Earn เป็นต้น นอกจากนี้ Web 3.0 ยังนำมาซึ่งโอกาสของการเกิดโมเดลธุรกิจแบบใหม่ขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิเช่น อุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมสื่อโฆษณา อุตสาหกรรมศิลปะและความบันเทิง อุตสาหกรรมเกม เป็นต้น โดยจากการคาดการณ์ของ Emergen Research ระบุว่า มูลค่าตลาดโดยภาพรวมของ Web 3.0 ทั่วโลกนั้นจะเติบโตจาก 3.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 เป็น 81.5 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 43.7 เลยทีเดียว
ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีผู้พัฒนาแพลตฟอร์มในรูปแบบ Web 3.0 ที่น่าสนใจออกมาจำนวนไม่น้อย ตัวอย่างเช่น Web Browser แบบ Decentralized อย่าง Brave ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ Google Chrome หรือ FireFox แต่มีจุดเด่นเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานโดยจะไม่มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ นอกจากนี้ยังสามารถให้ผู้ใช้งานเลือกเปิดปิดโฆษณาได้ด้วยตัวเอง หรือ Data Storage อย่าง Storj, Sia, Filecoin ที่ให้บริการแพลตฟอร์มจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์แบบกระจายศูนย์ (Decentralized Cloud Storage) ซึ่งระบบจะแยกข้อมูลออกเป็นส่วนและกระจายออกไปเก็บยังเครือข่าย Blockchain ทั่วโลก โดยจะมีเพียงผู้ใช้งานที่ถือ Private Key เท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ จึงทำให้มีระดับความปลอดภัยสูงกว่าการเก็บข้อมูลบนแพลตฟอร์มเป็นแบบรวมศูนย์อย่าง Google Drive หรือ Dropbox อยู่มาก
อย่างไรก็ดี แนวคิด Web 3.0 นั้นยังอยู่แค่เพียงในช่วงเริ่มต้น นอกจากจะมีข้อจำกัดอยู่หลายประการไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Scalability ที่ส่งผลทำให้ความเร็วในการทำธุรกรรมนั้นยังต่ำกว่าเว็บไซต์แบบรวมศูนย์แล้ว ก็ยังมีประเด็นถกเถียงเรื่องความปลอดภัยและความพร้อมในการเข้าสู่เว็บไซต์แบบไร้ตัวกลาง เราจึงยังคงต้องรอติดตามกันต่อไปว่าอนาคตของโลกอินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งอีกทั้งยังเป็นไปแบบก้าวกระโดด การรู้เท่าทันเทคโนโลยีและเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอย่อมเป็นสิ่งที่ธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ต้องให้ความสำคัญเพื่อการอยู่รอดในยุคแห่ง Disruptive Technology นั่นเอง