Articles

BATTERY RECYCLING

29/04/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันแบตเตอรี่ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนเนื่องจากแบตเตอรี่ถูกนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานให้แก่อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิดตั้งแต่สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่หลายประเทศกำลังสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนผ่านเพื่อทดแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

ปัจจุบันแบตเตอรี่ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนเนื่องจากแบตเตอรี่ถูกนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานให้แก่อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิดตั้งแต่สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่หลายประเทศกำลังสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนผ่านเพื่อทดแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

นอกจากการควบคุมกระบวนการกำจัดแบตเตอรี่ให้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ปัจจุบันหลายประเทศได้กำหนดให้มีการจัดเก็บ และเรียกคืนแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานเพื่อนำไปแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ (recycle) โดยแบตเตอรี่ที่ไม่สามารถใช้งานจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพทั้งทางกายภาพและทางเคมีเพื่อสกัดวัสดุและโลหะหนักออกมาก่อนจะนำวัตถุดิบกลับไปใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ใหม่อีกครั้ง การรีไซเคิลแบตเตอรี่จึงเป็นการกำจัดขยะอันตรายอย่างถูกต้องปลอดภัย และในขณะเดียวกันก็ช่วยลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ชิ้นใหม่ไปพร้อมๆ กัน

ความต้องการจากอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ธุรกิจพลังงานที่มีการใช้แบตเตอรี่ในระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ระบบกักเก็บพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Storage) และระบบสำรองพลังงานไฟฟ้า (Uninterruptible Power Supply) ส่งผลทําให้ความต้องการใช้งานแบตเตอรี่และแบตเตอรี่รีไซเคิลเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย หรือแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียก็ผลักดันให้ทั้งเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่และตลาดแบตเตอรี่รีไซเคิลของภูมิภาคมีความก้าวหน้า โดยรัฐบาลจีนได้พิจารณาออกกฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่สร้างโรงงานแบตเตอรี่รีไซเคิลควบคู่ไปกับโรงงานผลิต ซึ่ง Statista ก็คาดการณ์ว่าตลาดรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนทั่วโลกจะสามารถเติบโตจาก 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 ไปเป็น 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2031 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 19 ต่อปีเลยทีเดียว

ประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและซัพพลายเชนของยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค เป้าหมายนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่หมายถึงการพัฒนา EV Ecosystem ที่ครอบคลุมทั้งระบบ โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็ได้กำหนดแผนการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม EV ที่ครอบคลุมตั้งแต่ (1) มาตรการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าและผู้ผลิตแบตเตอรี่จากต่างประเทศ (2) การส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศปรับตัว (3) การพัฒนาทักษะบุคลากรตามแนวทาง Demand-Driven (4) การตั้งศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐาน รวมถึง (5) การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตและรีไซเคิลแบตเตอรี่

ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และแบตเตอรี่รีไซเคิลของไทยให้เติบโต ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนา Ecosystem เพื่อรองรับการเป็น EV Hub แล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รีไซเคิลยังเป็นโอกาสครั้งใหญ่ของประเทศไทยที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวของประเทศในระยะยาวอีกด้วย