Articles

GENOMICS MEDICINE

25/07/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics Medicine) เป็นหนึ่งในนวัตกรรมการให้บริการทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ถูกผสมผสานเข้ากับความรู้และการพัฒนาทางการแพทย์ โดยเป็นเทคโนโลยีที่คาดว่าจะสามารถเข้ามาพลิกโฉมวงการการแพทย์ทั่วโลกไปอย่างสิ้นเชิง

โดยการนำการแพทย์สมัยใหม่อย่าง Genomics Medicine ที่มีการนำข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลประกอบกับข้อมูลสุขภาพ รวมถึงข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยและพยากรณ์โรคนั้นนับเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยในการปลดล็อคข้อจำกัดทางการแพทย์ในรูปแบบเดิมและนำไปสู่การรักษาในรูปแบบใหม่ที่มีความแม่นยำ ตรงจุด และมีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย อีกทั้งยังช่วยลดค่ารักษาพยาบาลจากการรักษาที่ไม่ตรงจุดอีกด้วย

ด้วยศักยภาพและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้หลายฝ่ายเล็งเห็นว่า Genomics Medicine จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับรูปแบบการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรคหายากที่เกิดจากการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดความผิดปกติแต่กำเนิดซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ หรือ กลุ่มโรคเรื้อรังที่สามารถนำข้อมูลทางพันธุกรรมมาช่วยในการกำหนดวิธีรักษาแบบจำเพาะและคัดเลือกยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและผลข้างเคียงน้อยที่สุด ทั้งนี้ Genomics Medicine ไม่เพียงแต่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาการรักษากลุ่มโรคที่มีความซับซ้อนได้เท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาต่อยอดด้านการดูแลสุขภาพได้ในอีกหลากหลายมิติด้วยเช่นกัน อาทิ การคาดการณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพื่อการป้องกันและควบคุมในระยะเริ่มต้น หรือ การวิเคราะห์พันธุกรรมเพื่อวางแผนด้านโภชนาการและการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เป็นต้น

โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามูลค่าตลาด Genomics Medicine นั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากการที่หลายประเทศทั่วโลกต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญและมุ่งมั่นในการยกระดับไปสู่ Genomics Medicine มากขึ้นผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งด้านเงินลงทุนและการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการบริหารจัดการข้อมูลรหัสพันธุกรรม รวมถึงการร่วมลงทุนด้านเทคโนโลยีจากภาคเอกชนรายใหญ่ที่เป็นผู้นำในการให้บริการด้านสุขภาพเองก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเช่นกัน

สำหรับประเทศไทยนั้นภาครัฐก็ได้มีความพยายามขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้แผน Genomics Thailand โดยมีโครงการวิจัยด้านสุขภาพที่จะรวบรวมและสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมขนาดใหญ่ของคนไทยซึ่งตั้งเป้าดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมของประชากรไทยในระยะแรกเป็นจำนวน 50,000 รายผ่านศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกซ์ที่จัดตั้งอยู่ในพื้นที่ EECg และการจัดตั้งหน่วยบริหารจัดการข้อมูล (National Biobank of Thailand) เพื่อจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมของคนไทยทั่วประเทศ พร้อมทั้งการจัดตั้งศูนย์บริการด้านการแพทย์ต่างๆ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในอาเซียนด้านการรักษา 5 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหายาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคติดเชื้อ และเภสัชพันธุศาสตร์

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าการแพทย์รูปแบบใหม่นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการการแพทย์ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชากรมีสุขภาพที่ดีในทุกช่วงอายุ แต่ Genomics Medicine ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน การผลักดันให้เกิดการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐบาลที่ก่อให้เกิดการลงทุน การสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการร่วมลงทุนจากภาคเอกชนที่มีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรและองค์ความรู้จึงจะเป็นการช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดการนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรอย่างทั่วถึงนั่นเอง