文章

The Future of World Energy

18/09/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้รับเชิญไปบรรยายในงาน CATCH ACROSS : Leading Through Trends, Strategy, and People จัดโดยบริษัท Sauce Skills ในเครือของ Bluebik ร่วมกับ THE STANDARD ซึ่ง หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ฟังในการบรรยายครั้งนี้ ได้แก่ แนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมพลังงานโลก นั่นเอง

ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสใช้พื้นที่นี้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ 7 เทรนด์สำคัญที่จะเข้ามากำหนดทิศทางของธุรกิจพลังงานในอนาคตอันใกล้ ดังต่อไปนี้ค่ะ

(1) Renewable Energy Revolution พลังงานทดแทนที่มีส่วนช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยายกาศโลก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นต้น มีการขยายตัวอย่างมาก โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้คาดการณ์ว่าพลังงานสะอาดเหล่านี้จะมีกำลังผลิตราว 35% ของการผลิตพลังงานโลกภายในปี 2025 และมีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทนที่แหล่งพลังงานแบบดั้งเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ (2) Decentralization and Energy Democracy การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานแบบกระจายหรือการสร้างพลังงานทดแทนที่มีขนาดเล็ก ส่งผลให้ชุมชนสามารถสร้างและเข้าถึงพลังงานสะอาดได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกัน ระบบเครือข่ายขนาดเล็กยังส่งเสริมการใช้พลังงานอิสระ หรือ Energy independence อันจะช่วยทำให้เกิดการกระจายพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียพลังงานไปพร้อมๆ กัน (3) Digitization and Smart Grids การนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) มาประยุกต์กับงานพลังงาน ตลอดจนการคิดค้นอุปกรณ์ดิจิทัลที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็น Smart Grid หรือ Smart Meter ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถจัดการการใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี Blockchain ที่ถูกนำมาใช้เพื่อติดตาม/ พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับแลกเปลี่ยนพลังงาน รวมถึงเทคโนโลยี AI ที่ถูกนำมาคำนวณความต้องการใช้พลังงานได้อย่างแม่นยำ (4) Electrification and Clean Transportation แนวคิดการขนส่งสีเขียว (Green Transportation) ซึ่งเน้นการบริหารจัดการเลือกใช้เทคโนโลยีขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงได้รับความสนใจอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาและนำยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) มาใช้เพื่อสร้างระบบการขนส่งที่ยั่งยืนและลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิง (5) Energy Efficiency and Conservation แนวทางการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อป้องกันหรือลดการใช้พลังงานอย่างแพร่หลาย เช่น การติดตั้งระบบการจัดการและควบคุมพลังงานในสถานที่ธุรกิจ/ อุตสาหกรรม รวมถึงการปิดไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน (6) Energy Storage and Grid Flexibility ความก้าวหน้าของระบบกักช่วยเก็บพลังงานเฉพาะช่วงเวลาที่ไม่มีการใช้งานมากและปล่อยพลังงานในช่วงเวลาที่มีความต้องการสูง ช่วยให้ผู้ผลิตสามารถบริหารจัดการพลังงานให้เหมาะสมและเพิ่มความยืดหยุ่น อีกทั้ง ยังทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้ไฟฟ้าในเวลาที่มีราคาที่เหมาะสมที่สุด และลดค่าใช้จ่ายในการใช้พลังงานโดยรวม (7) Circular Economy and Resource Efficiency การจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ นั้นถือเป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย Market Study Report ได้เปิดเผยว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีถึง 7.8% ในช่วงปี 2021 ถึงปี 2027 และมีมูลค่ากว่า 65.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2027 เลยทีเดียว

คงมิอาจปฏิเสธได้ว่าเทรนด์ด้านพลังงานเหล่านี้นับเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ เพิ่มแหล่งพลังงานที่สะอาด/พลังงานทางเลือก อีกทั้ง ยังที่มีบทบาทสำคัญในสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวด้วยนั่นเอง