文章

Second-Life Battery

11/09/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานโลกเก่าอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปสู่ โลกใหม่ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยมี “แบตเตอรี่” ที่มีบทบาทสำคัญในการกักเก็บพลังงาน ให้รถไฟฟ้าสามารถขับเคลื่อนได้

แม้ปัจจุบันแบตเตอรี่ที่ใช้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้านั้นมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน อาทิเช่น แบตเตอรี่นิเกิล-แคดเมียม แบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน และ แบตเตอรี่ชนิดโซเดียม-ไอออน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ประเภท Lithium-ion ถือเป็นแบตเตอรี่ที่ได้รับความนิยมในเชิงพาณิชย์และถูกนำมาใช้สำหรับให้พลังงานรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด เนื่องจากคุณสมบัติที่มีน้ำหนักเบาและให้พลังงานได้มากทำให้สามารถที่จะชาร์จครั้งเดียวแล้วเดินทางไปได้ไกลหลายกิโลเมตรนั่นเอง

ด้วยปริมาณความต้องการใช้แบตเตอรี่ประเภท Lithium-ion ที่สูงขึ้นอย่างมากนี้ ก็ได้ทำให้เกิดความต้องการใช้แร่ลิเทียมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้หลายฝ่ายต่างตั้งคำถามถึงความเพียงพอของแร่ลิเทียมในระยะยาว นอกจากนี้ การใช้พลังงานจากแบตเตอรี่นั้นยังสร้างความกังวลใจให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ประเภท Hybrid เนื่องจากการเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละครั้งนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงพยายามค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะช่วยลดผลกระทบและเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้กับยานยนต์ไฟฟ้าไปพร้อมๆ กัน

โดยหนึ่งในทางเลือกด้านพลังงานที่กำลังถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากคงหนีไม่พ้น แบตเตอรี่ทุติยชีพ หรือ Second-life Battery ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความหวังที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งหากพิจารณาถึงคุณประโยชน์ของแบตเตอรี่ทุติยชีพนี้ ไม่เพียงแต่จะมีส่วนเพิ่มมูลค่าให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในอนาคต สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับแบตเตอรี่ EV ลดการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันยังมีต้นทุนจัดเก็บในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ใหม่อีกด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยชั้นนำอย่าง IDTechEx จากประเทศอังกฤษ ก็ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญและการพัฒนาไปของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ทุติยชีพไว้ ในรายงาน “Second-life Electric Vehicle Batteries 2023-2033” โดยได้เปิดเผยถึงความก้าวหน้าในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎข้อบังคับ และการพัฒนาเทคโนโลยี ไปจนถึงกิจกรรมของผู้มีบทบาทในการตรวจวินิจฉัยแบตเตอรี่ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่ง IDTechEx ก็ได้คาดการณ์ว่าตลาดแบตเตอรี่ทุติยชีพสำหรับ EV จะมีมูลค่าสูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2033 เลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทยเอง ภาครัฐก็ได้มีความพยายามในการเตรียมความพร้อมรองรับการจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากความความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเทคโนโลยีต่างๆ ในการผลักดันพัฒนาเทคโนโลยีนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน (Second Life Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และอาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนได้พัฒนาต้นแบบรถกอล์ฟไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและเครื่องสำรองไฟที่ใช้แบตเตอรี่จากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วด้วยเช่นกัน

การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ของไทยถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นและไม่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากยังสร้างผลตอบแทนไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับมูลค่าลงทุน รัฐบาลจึงควรเร่งสนับสนุนผ่านมาตรการสำคัญต่างๆ อาทิ การส่งเสริมและสิทธิพิเศษทางภาษี/ การลงทุน การสนับสนุนงบประมาณการวิจัยและพัฒนา ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดด้านระบบกักเก็บพลังงาน อาทิ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ทางเลือกในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ของประเทศแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมพลังงานของไทยในระยะยาวอีกด้วย