文章

The Future of Mobility

15/05/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญทั้งในด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงโครงสร้างประชากร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคให้แตกต่างไปจากเดิมในอดีต ด้วยเหตุนี้ ภาคอุตสาหกรรมจึงต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้นั่นเอง

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่นับว่าต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ก็คงหนีไม่พ้น อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยต้องค้นหาแนวทางในการพัฒนายานยนต์ที่ตรงตามความต้องการของผู้โดยสารสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น หากพิจารณาถึงทิศทางการพัฒนาไปของอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำเองก็ได้เปิดเผย เทรนด์ของอุตสาหกรรมดังกล่าวไว้ในรายงาน The Future of Mobility โดยแบ่งออกเป็น 4 เทรนด์ที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

(1) Autonomous Vehicles (AVs) หรือ ยานยนต์ไร้คนขับ จะถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ผู้โดยสารของทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่คาดว่าภายในปี 2025 จะมีการนำยานยนต์ไร้คนขับที่มีขีดความสามารถสูงขึ้นมาใช้มากยิ่งขึ้น ซึ่งยานยนต์จะทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ (Automation Features) แบบ Level 3 และ Level 4 ที่เป็นระบบอัตโนมัติที่มีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาเสริมประสิทธิภาพให้สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ McKinsey & Company ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2035 ตลาดการขับขี่แบบไร้คนขับจะสามารถสร้างรายได้สูงถึง 300-400 พันล้านเหรียญสหรัฐ (2) Rise of Micromobility การเพิ่มขึ้นของความนิยมในอุปกรณ์เดินทางที่มีน้ำหนักเบา ได้แก่ e-bike สกูตเตอร์ รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็ก รวมถึงรถสามล้อ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลทางการตลาดของ Micromobility ทั่วโลกในปัจจุบันที่สูงกว่า 180 พันล้านเหรียญสหรัฐ และแนวโน้มที่จะขยายตัวมากกว่า 2 เท่าภายในปี 2030 (3) Development of Intermodal Applications การพัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยวางแผนการเดินทาง/การขนส่งด้วยรูปแบบการเดินทาง/ การขนส่งหลายวิธีร่วมกัน จะได้รับการพัฒนาต่อยอดให้สามารถรองรับการทำงานที่ซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น อันจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกเส้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา และสะดวกสบาย ตัวอย่างเช่น Jelbi แอปพลิเคชันที่แสดงเส้นทางที่รวมการเดินทางในรูปแบบต่างๆ พร้อมให้รายละเอียดของค่าใช้จ่าย และระยะเวลาที่ต้องใช้ไปกับการเดินทางได้อีกด้วย (4) Shared/ Pooled Zero-emission Vehicles การเปลี่ยนถ่ายไปสู่ยุคของการแบ่งปันยานพาหนะร่วมกัน (Shared Mobility) และ รถยนต์ร่วมโดยสาร (Ride-Hailing) จะเข้ามามีบทบาทและเป็นตัวเลือกที่จะได้รับความสนใจจากผู้โดยสารมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้โดยสารสมัยใหม่นั้นไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญต่อศักยภาพเชิงเทคโลโนยี/นวัตกรรม ความสะดวกสบาย ต้นทุน/ค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกัน ยังมองหายานยนต์ที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน โดยตลาดดังกล่าวได้ถูกประมาณการว่าจะสร้างรายได้สูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2030 เลยทีเดียว

อุตสาหกรรมยานยนต์นั้นมีโครงสร้างอุตสาหกรรมแบบพีระมิด ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบยานยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับต่างๆ การเกิดขึ้นของเทรนด์แห่งอนาคตนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกันยังเป็นเหมือนสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ทุกฝ่ายไม่อาจนิ่งนอนใจและต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้วางแผน/ ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง