文章

GLOBAL ADOPTION OF AI

03/04/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ก่อนเราได้มีโอกาสมาคุยกันเกี่ยวกับกระแสการนำเทคโนโลยี AI มาปรับใช้ที่เพิ่มมากขึ้น และแนวโน้ม/ ทิศทางการพัฒนาของเทคโนโลยี AI ที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 ไปแล้ว สำหรับอาทิตย์นี้เราจะมาคุยกันต่อว่า ภาคอุตสาหกรรม/ภาคธุรกิจมีการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างไรกันบ้าง

แม้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นได้ถูกพัฒนามานานหลายสิบปี ในอดีตการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้นั้นยังถือว่าอยู่ในวงจำกัด เช่น การนำ AI ไปช่วยวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Cloud-based และ การใช้ AI กับ Computational Algorithms ขั้นสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทคโนโลยี AI ก็ได้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ รองรับการทำงานที่ซับซ้อน/ หลากหลาย และมีต้นทุนการพัฒนา/ เทรนที่ต่ำลง จนทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ IBM บริษัทผู้ผลิตและให้บริการด้านคอมพิวเตอร์ระดับโลก ที่ได้ทำการสำรวจบริษัททั่วโลก และพบว่า เทคโนโลยี AI นั้นมีอัตราการยอมรับ หรือ Adoption Rate จากผู้ใช้งานภาคธุรกิจเท่ากับร้อยละ 35 ในปี 2022 เพิ่มขึ้นจาก Adoption Rate ของปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 31 เลยทีเดียว

ในขณะที่เทคโนโลยี AI กำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งผลให้มียอดการลงทุนในเทคโนโลยี AI ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังสะท้อนจากข้อมูลสถิติในรายงาน 2022 AI Index Report ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยชื่อดังจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้เปิดเผยตัวเลขการลงทุนในเทคโนโลยี AI ของภาคธุรกิจทั่วโลกอยู่ที่ 176.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการเติบโตจากปีก่อนหน้าเท่ากับร้อยละ 48 เลยทีเดียว โดยหลักเป็นการลงทุนผ่านการลงทุนแบบ Private Investment และกิจกรรมการควบรวมกิจการ (M&A) เป็นมูลค่าถึง 93.5 และ 72.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรม/ ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างก็เร่งนำเอาเทคโนโลยี AI มาช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงาน ตลอดจนออกแบบผลิตภัณฑ์และการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ตัวอย่างเช่น Alphabet (Google) บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันที่ได้นำ AI ไปพัฒนา Waymo ที่เป็นเทคโนโลยีด้านการขับขี่อัตโนมัติ (self-driving), Bard AI Chatbot และบริษัทยังได้ซื้อกิจการของบริษัท DeepMind บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี Deep Learning ก็เป็นเหมือนสิ่งตอกย้ำถึงการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI ของ Alphabet (Google)  ได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้ง บริษัท E-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ที่นำ AI มาต่อยอดผลิตภัณฑ์ อาทิ ระบบสั่งการด้วยเสียงของ Alexa, ระบบแนะนำสินค้า (recommendation engine) และ ระบบการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าแบบ cashless ใน Amazon Go เป็นต้น อีกทั้งยังมี Apple ที่นำเทคโนโลยี AI และ Machine Learning มาใช้สร้าง Face ID ฟีเจอร์ใน iPhone รุ่นใหม่ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น AirPods, Apple Watch หรือ HomePod อีกด้วย

ในขณะเดียวกัน บริษัทที่เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีจากประเทศจีนเองก็มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI อย่างแพร่หลาย ดังจะเห็นได้จากการนำ AI มาสร้างระบบ Deep Voice ที่สามารถสั่งการให้คอมพิวเตอร์เลียนแบบเสียงที่บันทึกได้ ของ Baidu นอกจากนี้ ยังมี Tencent ผู้นำด้านการให้บริการแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่มี slogan ประจำบริษัทว่า “AI in all” ที่ได้นำ AI มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ อาทิ เกม ผู้ช่วยดิจิทัล ระบบการทำธุรกรรมทางการเงิน  และ ระบบการจัดเก็บข้อมูลระยะไกล เป็นต้น

สัปดาห์หน้าเราคงจะได้มีโอกาสมาคุยกันต่อถึงกรอบการทำงานและความพร้อม (Maturity Stage) ของเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องต่างๆ ว่ามีเทคโนโลยีใดบ้างที่มีศักยภาพสูงในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและจะมีการขยายขอบเขตของประสบการณ์อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้