บทความ

THE WORKFORCE OF INFORMATION AGE

08/07/2563

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคของ Information Age ที่เทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร และองค์ความรู้ต่างๆ สามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนถูกขนานนามว่าเป็น “โลกยุคเศรษฐกิจองค์ความรู้ (Knowledge Economy)” และ “โลกยุคเศรษฐกิจบริการ (Service Based Economy)” อย่างแท้จริง

ทั้งนี้บริษัท องค์กร และผู้ประกอบการต่างๆ ก็ยังคงต้องวางกลยุทธ์เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) เช่นเดิมหากแต่ความสำเร็จดังกล่าวจะถูกขับเคลื่อนด้วยความสามารถในการแข่งขันชุดใหม่อันได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึงและวิเคราะห์กลั่นกรองข้อมูลเพื่อสร้างองค์ความรู้ หรือ รูปแบบธุรกิจ (Business Model) หรือ สินค้าและบริการใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่ซับซ้อนของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Information Age ดังกล่าวนี้ก็ส่งผลให้คุณภาพและความสามารถของทรัพยากรบุคคลหรือแรงงานกลายเป็นปัจจัยที่ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นไปเป็นลำดับ

ประเทศไทยเองก็กำลังก้าวไปสู่โมเดลประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการบริการระดับสูงโดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ประชากรให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือกลไกเศรษฐกิจของประเทศก็ย่อมจะส่งผลต่อความต้องการแรงงาน วิธีการทำงาน รวมถึงการเกิดขึ้นของอาชีพและทักษะงานรูปแบบใหม่ และทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการบริหารจัดการและร่วมมือกันเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีทักษะที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมและบริการสมัยใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเหล่านี้ได้

จากการเปิดเผยข้อมูลประมาณการความต้องการแรงงานในพื้นที่ EEC ระหว่างปี 2562 ถึง 2566 โดยกรมการจัดหางาน พบว่า ความต้องการทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10+2 มีจำนวนรวมกว่า 475,000 คน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องจัดหาและเพิ่มพูนทักษะของแรงงานที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการและนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคณะกรรมการ EEC ก็ได้เล็งเห็นถึงความเร่งด่วนของปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC-HDC ขึ้นเพื่อรับผิดชอบ ประสานงาน และผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องให้เป็นผลสำเร็จ

บทบาทและหน้าที่หลักของ EEC-HDC จึงเปรียบเสมือนตัวกลางที่คอยเชื่อมโยงภาคธุรกิจเข้ากับสถาบันการศึกษาทั้งระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาที่อยู่ใน/ นอกพื้นที่ EEC ตลอดจนเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบด้านการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จากทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น ความสำเร็จของการพัฒนาความร่วมมือระหว่างบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สัญชาติจีน Prinx Chengshan Tire ที่มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA Group กับวิทยาลัยเทคนิคชลบุรีที่ตกลงร่วมกันพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เพื่อตอบสนองการขยายธุรกิจของ Prinx ในประเทศไทย เป็นต้น

การแก้ปัญหาแบบในอดีตโดยมองว่าแรงงานขาดแคลนและเร่งผลิตบุคลากรจนมีแต่แรงงานทักษะต่ำหรือไม่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมจึงไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง นโยบายการพัฒนาแรงงานโดยเน้นไปที่การตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นวิธีการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างตรงจุดและหากแนวปฏิบัติดังกล่าวได้รับการผลักดันในวงกว้างก็จะเป็นการช่วยพัฒนาแรงงานให้กลายเป็น Knowledgeable Worker ที่จะเป็นขุมพลังสำหรับการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าในยุคของ Information Age นี้นั่นเอง