บทความ

AUTOMATION 2020

19/02/2563

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าปี 2020 เป็นปีแห่งความท้าทายอย่างแท้จริงเพราะนับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่เป็นต้นมาก็เกิดเหตุการณ์ใหญ่ทั้งความกังวลสืบเนื่องจากสงครามการค้า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จนส่งผลทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงวิกฤตภัยแล้ง ปัญหาฝุ่นและสภาวะอากาศ การแข็งค่าของเงินบาท งบประมาณล่าช้า

นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ประชาชนคนไทยก็ยังต้องเผชิญกับบททดสอบความเข้มแข็งของจิตใจผ่านเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมา อย่างไรก็ตาม ดั่งเช่นที่ผู้เขียนมักสื่อสารอยู่เสมอว่า ท่ามกลางวิกฤตนั้นย่อมมีความหวังดังนั้นพวกเราทุกคนจึงต้องไม่ท้อแท้และมองทุกอย่างให้เป็นพลังด้านบวกให้มากที่สุด

จากการที่ผู้เขียนได้ติดตาม Megatrend มาหลายปี ผู้เขียนมีมุมมองเช่นเดียวกับผู้รู้จากทั้งในและต่างประเทศหลายๆ ท่านว่า ปี 2020 นี้จะเป็นปีแห่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางด้านเทคโนโลยีโดยกระแส Digital Disruption และผลของการประยุกต์ใช้ Exponential Technology ต่างๆ อย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นภาพชัดเจนและส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม

ซึ่งบริษัทวิจัยด้านไอทีชั้นนำ Gartner, Inc. ก็ได้ประกาศทิศทางของโลกนับจากปี 2020 เป็นต้นไปว่ากำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคของระบบอัตโนมัติ (The Age of Automation) อย่างเต็มรูปแบบโดย Gartner ยังเปิดเผยรายงานแนวโน้มเทคโนโลยีในปี 2020 ที่แตกต่างจากเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากการพัฒนาของ (1) เทคโนโลยีประยุกต์ใหม่กลุ่ม Smart Space เช่น Distributed Cloud, Autonomous Things, AI Security, Empowered Edge (IoTs) ฯลฯ ที่จะไม่ได้เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแบบเดี่ยวๆ ในรูปแบบเดิมเท่านั้นแต่เป็นแนวโน้มการรวมเทคโนโลยีหลากหลายประเภทเข้าไว้ด้วยกัน และ (2) เทคโนโลยีที่เน้นผู้ใช้ People Centric เช่น Hyper-automation ซึ่งเป็นการผสมผสาน AI, Software และระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกันเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของผู้ใช้ เป็นต้น

กรณีของประเทศไทยก็มีความตื่นตัวและกระแสตอบรับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่มาโดยตลอด ซึ่งนโยบายประเทศไทย 4.0 และโครงการ EEC ต่างก็สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการ โดยในปี 2020 นี้ก็คาดว่าจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การจัดการระบบคลังสินค้าอัจฉริยะ (Smart Warehouse) ที่ทันสมัยและได้มาตรฐานเหมือนในต่างประเทศ การพัฒนา Smart Microgrid โดยการติดตั้ง IoTs และการใช้ AI ในการบริหารจัดการ หรือ Big Data จัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้งานเพื่อการวิเคราะห์ เป็นต้น

รวมถึงช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานี้ก็มีข่าวความคืบหน้าของการเปิดประมูลคลื่น 5G ที่ถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญของการขับเคลื่อนในยุคดิจิทัล ซึ่งทาง กสทช. ก็ได้ประกาศเปิดประมูลคลื่นความถี่ 700, 800, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์โดยได้รับความสนใจจากโอเปอเรเตอร์เข้าร่วมการประมูลถึง 5 ราย ซึ่งการเปิดประมูลในครั้งนี้นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐทางตรงแล้ว สภาอุตสาหกรรมฯ ยังคาดการณ์อีกว่า เทคโนโลยี 5G จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.5-5.0 ล้านล้านบาทภายใน 15 ปี ข้างหน้าอีกด้วย

ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดต่างๆ ผู้เขียนก็ขอส่งกำลังใจไปถึงผู้อ่านและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านให้มองไปข้างหน้าอย่างมีความหวังและเป็นพลังด้านบวกที่จะช่วยให้ประเทศไทยของเราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคไปสู่โอกาสใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมนั่นเอง