文章
Global Initiatives for Circular Economy Transition
06/11/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยถึงแนวคิดของ Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เน้นการนำทรัพยากรมาหมุนเวียนอยู่ในกระบวนการผลิตและบริโภคผ่านการนำมาผลิตใหม่หรือนำมาใช้ซ้ำ ซึ่งหากพิจารณาถึงความพยายามส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะพบว่ามี 5 โครงการที่มีความน่าสนใจ ผู้เขียนจึงขอใช้พื้นที่นี้ในการพูดคุยเกี่ยวกับโครงการที่กำลังได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในขณะนี้
(1) International Climate Regime เวทีการประชุมสำคัญที่ติดตามความเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 27) หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลกระทบและแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ความพยายามในทุกระดับเพื่อบรรลุเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิทั่วโลกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ภายในปี 2643 รวมถึงการตั้งกองทุนเพื่อชดเชยความสูญเสียและเสียหาย ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น (2) EU Digital Product Passport (DPP) เมื่อต้นปี 2022 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เปิดตัวหนังสือเดินทางดิจิทัลสำหรับผลิตภัณฑ์ (Digital Product Passport) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในตลาดยุโรป โดย DPP จะระบุข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้อย่างถูกต้อง โครงการดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยให้สหภาพยุโรปสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์หรือมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ (3) RE100 โครงการระดับโลกที่รวมบริษัททุกแห่งมุ่งมั่นใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน 100% ในการดำเนินงานหรือกิจกรรมของบริษัท โดยบริษัทสมาชิกในโครงการนี้มีสัญญาที่จะหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำไฟฟ้า และพลังงานลม เป็นต้น โดยการเข้าร่วมโครงการ RE100 นั้นยังถือเป็นตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำในการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแผนพลังงานชาติไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (4) Green Supply Chain การปฏิบัติตามมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมในการผลิตและกระจายสินค้าหรือบริการ โดยเน้นการเลือกใช้วัสดุเพื่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน ลดขยะ และให้ความสำคัญกับการรีไซเคิล แนวคิดดังกล่าวครอบคลุมถึง Green Package ที่นำหลักการ 4R1D ประกอบด้วย Reduce, Reuse, Reclaim, Recycle และ Degradable มาประยุกต์ใช้ อันจะนำไปสู่การปกป้องสิ่งแวดล้อมและการนำทรัพยากรมาหมุนเวียน/ใช้ใหม่ได้ (5) Net Positive Water การใช้น้ำสุทธิเป็นบวก ที่เป็นเป้าหมายลดการใช้ทรัพยากรน้ำและเติมน้ำสะอาดกลับคืนสู่แหล่งน้ำในท้องถิ่นให้ได้มากกว่า 100% ซึ่งปัจจุบันก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง PepsiCo ก็ได้ประกาศเป้าหมายไปสู่ Net Positive Water ภายในปี พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ ยังมีบริษัท Intel ผู้ผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เพิ่งประกาศความสำเร็จการใช้น้ำสุทธิเป็นบวกในสามประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา คอสตาริกา และอินเดีย อีกทั้งยังตั้งเป้าหมายไปสู่ Net Positive Water ในทุกประเทศที่มีฐานการผลิตอีกด้วย
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ซึ่งไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ด้วยเหตุนี้ การเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา/ ลดผลกระทบจึงเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการพลิกวิกฤติไปสู่เส้นทางของการเปลี่ยนถ่ายไปสู่การพึ่งพาพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในระยาวนั่นเอง