文章
MEDICAL DEVICE INNOVATION
02/02/2022คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในทศวรรษที่ผ่านมา กระแสรักและใส่ใจสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่ก้าวไปสู่สังคมสูงวัย รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ก็ได้ทำให้เกิดความต้องการของเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นก็ได้เข้ามาช่วยพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าวให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในโลกยุคปัจจุบันได้ โดยศูนย์วิจัย Fortune Business Insights ได้คาดการณ์ว่าตลาดเครื่องมือแพทย์โลกนั้นจะมีมูลค่าสูงถึง 658 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2028 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2021 ถึงปี 2028 เท่ากับร้อยละ 5.4 เลยทีเดียว
ในขณะที่ความต้องการเครื่องมือแพทย์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ภาคธุรกิจเครื่องมือแพทย์ต่างมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยและมีศักยภาพสูงมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Intuitive บริษัทผู้พัฒนาเครื่องมือแพทย์สัญชาติอเมริกันที่ได้พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Da Vinci ที่เป็นแขนกลอัจฉริยะทำงานเชื่อมต่อกับระบบภาพขยาย 3 มิติ ซึ่งช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimal Invasive Surgery) ได้อย่างละเอียด แม่นยำ และได้แผลผ่าตัดที่เล็ก นอกจากนี้ ยังมี CMR Surgical บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์จากประเทศอังกฤษที่ได้พัฒนาระบบหุ่นยนต์ผ่าตัด Versius Robotic System ที่สามารถช่วยทีมแพทย์ในการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยากได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ หุ่นยนต์ดังกล่าวยังได้ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง จึงสามารถเคลื่อนย้ายและปรับให้เหมาะสมกับการผ่าตัดในรูปแบบที่หลากหลายได้อีกด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้นถือเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านมาตรฐานการรักษาพยาบาลและคุณภาพของบริการทางการแพทย์ อีกทั้งภาครัฐเองก็ได้มีนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) จึงทำให้ความต้องการของบริการทางการแพทย์ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง นั้นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานของ Medical Devices Intelligence Unit หรือ MEDIU ที่ได้เปิดเผยตัวเลขมูลค่าทางการค้าของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยในปี 2020 ที่สูงถึง 19.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์กว่า 13.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน อาทิ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น
แม้ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญในการผลิตนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ไม่ซับซ้อน อาทิ ถุงมือยาง และ หลอดฉีดยา เป็นต้น จึงทำให้ อุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่หลายด้าน อาทิเช่น ภาวะการแข่งขันที่สูง ข้อจำกัดด้านงานวิจัย และการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อุตสาหกรรมดังกล่าวยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่หลายด้าน อาทิเช่น ภาวะการแข่งขันที่สูง ข้อจำกัดด้านงานวิจัย และการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยจะเร่งต่อยอดการพัฒนาทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ Soft Infrastructure ต่างๆ เพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการการแพทย์ครบวงจรแห่งอนาคตให้มีความโดดเด่นและมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก อันจะช่วยยกระดับให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่การเป็น Medical Hub ได้อย่างแท้จริงนั่นเอง