文章

GLOBAL FOOD CRISIS

31/07/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญที่เรียกว่า "วิกฤติอาหารโลก หรือ Global Food Crisis" ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวิกฤตินี้ส่งผลทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นและนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนอาหารและความมั่นคงทางอาหารที่ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจากรายงาน Global Report on Food Crises 2023 ระบุว่า ประชากรกว่า 258 ล้านคนใน 58 ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างเฉียบพลัน

หากเราพิจารณาถึงสาเหตุหลักของปัญหาที่เราต้องเผชิญในรอบนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วและอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ตลอดจนการผลิตและการแปรรูปอาหาร นอกจากนี้ ปัญหาสงครามและความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออย่างในประเทศอัฟกานิสถานหรือซูดานใต้ รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาเป็นตัวเร่งให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นกว่าเดิมและส่งผลทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารขึ้นในหลายประเทศ

สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะมีข้อได้เปรียบด้านปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมอาหารที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาข้อมูลจากรายงาน Global Food Security Index ปี 2022 พบว่า ในภาพรวมประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 64 จากทั้งหมด 113 ประเทศโดยมีจุดเด่นทางด้านความสามารถในการเข้าถึงอาหาร (Affordability) อยู่ในลำดับที่ 39 ของโลก แต่ก็ยังมีจุดอ่อนด้านความยั่งยืนและความยืดหยุ่น (Sustainability and Adaptation) ความพร้อมและความพอเพียงด้านอาหาร (Availability) รวมถึงคุณภาพและความปลอดภัย (Quality and Safety) ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 69, 77, และ 102 เลยทีเดียว โดยตัวเลขดัชนีความมั่นคงทางด้านอาหารนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเองแม้จะมีความอุดมสมบูรณ์ในปัจจุบัน แต่ในระยะยาวการให้ความสำคัญกับนโยบายความมั่นคงทางอาหารเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจขึ้นในอนาคตก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้เช่นกัน

โดยการนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการทางการเกษตรและการผลิตอาหารถือเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะเข้ามาช่วยปลดล็อคปัญหาวิกฤติอาหารและยกระดับความมั่นคงทางอาหารอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาช่วยตอบโจทย์ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เช่น การทำ Precision Agriculture โดยใช้เทคโนโลยีตรวจวัด จัดเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์หาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต หรือ การทำ Vertical Farming เพื่อควบคุมสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมทำให้ปลูกพืชได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารก็ทำให้เกิดกรรมวิธีการผลิตรูปแบบใหม่ๆ อาทิเช่น เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Lab-grown Meat) โปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) โปรตีนจากแมลง (Edible Insects) ฯลฯ ที่สามารถเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหารได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี การจะนำเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายนั้นก็ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ โดยเฉพาะด้านต้นทุนในการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย การสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ประกอบกับการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยผ่านการทำงานอย่างสอดประสานกันของภาครัฐ ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา/วิจัย นักลงทุนนั้นจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับประเทศไทยในการพัฒนาความพร้อมเพื่อรองรับกับความท้าทาย รวมถึงการคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อต่อยอดความได้เปรียบในฐานะของการเป็น "Kitchen of The World" ต่อไปอย่างยั่งยืนนั่นเอง