บทความ

INTERMODAL TRANSPORTATION

03/04/2562

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ประเทศไทยของเรามีพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 เป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่เป็นการบุกเบิกและวางรากฐานให้กับระบบการขนส่งของไทยอันแสดงถึงความก้าวหน้าและศักยภาพด้านการเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคอาเซียนมาหลายสิบปี

และเมื่อพูดถึงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหลายท่านคงจะนึกถึงวิธีการขนส่งหรือกระบวนการขนย้ายสินค้าที่นำรูปแบบการขนส่งวิธีต่างๆ มาผสมผสานกัน ซึ่งจากการศึกษาข้อมูล ผู้เขียนพบตัวอย่าง Intermodal Transportation ที่ทั่วโลกนิยมใช้ อาทิ Sea-Air ซึ่งเป็นการใช้วิธีการขนส่งทางทะเลเชื่อมต่อเข้ากับการขนส่งทางอากาศ Air-Truck ที่นำการขนส่งทางรถบรรทุกมาสนับสนุนการขนส่งทางอากาศ รวมถึง Land Bridge หรือ Sea-Land-Sea ที่นิยมสำหรับการขนส่งต่อเนื่องข้ามทวีปหรือข้ามประเทศโดยการเชื่อมทะเลที่อยู่ระหว่างสองฟากแผ่นดินเข้าด้วยกันโดยใช้การขนส่งทางรถบรรทุกหรือรถไฟจึงทำให้มีลักษณะคล้ายการสร้างสะพานบก เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันการขนส่งสินค้าในระบบโลจิสติกส์ยังพึ่งพาระบบการขนส่งทางถนนมากที่สุด รองลงมา คือ การขนส่งทางชายฝั่งทะเลและทางน้ำภายในประเทศ และตามมาด้วยวิธีการขนส่งทางรางโดยมีทางอากาศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากโครงสร้างการขนส่งทางถนนของไทยมีความก้าวหน้าและมีเส้นทางเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกันมากกว่าการขนส่งทางอื่นๆ ตลอดจนการขนส่งทางถนนยังเป็น Door to Door Delivery จึงช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงแหล่งผลิตและการขนส่งจากต้นทางไปถึงผู้รับปลายทางได้ด้วยความรวดเร็วโดยไม่ต้องมีการขนถ่ายหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเลือกใช้วิธีการขนส่งทางรถบรรทุกเป็นหลักจะมีหลายข้อดีแต่เนื่องจากการขนส่งทางถนนไม่ได้มีลักษณะเป็น Mass Transportation จึงทำให้ต้นทุนการขนส่งโดยรวมสูงกว่าวิธีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่มีการนำการขนส่งทางรางหรือทางเรือเข้ามาผสมผสานด้วย

โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในพื้นที่ EEC จึงเป็นการช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีปริมาณที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งทางรถไฟ สนามบินและท่าเรืออันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ รวมถึงความพยายามที่จะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในทางการค้าและการขนส่งให้เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร และสามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานของประเทศคู่ค้าเกิดเป็น Single Window หรือ Paperless Custom ที่จะช่วยสร้างพัฒนาการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าเนื่องจากขั้นตอนทางพิธีการศุลกากรที่ลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขาดไปไม่ได้และจะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ การเร่งพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการขนส่งของไทยให้มีความเข้าใจและสามารถให้บริการแบบ Intermodal Transportation ได้ ซึ่งโครงการ EEC เองก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการขนส่งโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ให้มีความเข้าใจถึงผลกระทบและการเตรียมตัวโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ในกระบวนการทำงานให้มากยิ่งขึ้น

การลดต้นทุนค่าขนส่งโดยการใช้วิธีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งมอบสินค้าภายใต้หลักการจัดการโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งมอบเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แนวทางการขับเคลื่อนจึงต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการโดยเฉพาะขั้นตอนของกรมศุลกากร และการยกระดับทักษะและขีดความสามารถของผู้ประกอบการชาวไทยซึ่งเป็น Soft Infrastructure ควบคู่ไปกับการเร่งลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น Hard Infrastructure จึงจะทำให้แนวคิดตาม พรบ. การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบสัมฤทธิ์ผลก่อเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว