Articles

TELEMEDICINE

29/05/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการติดต่อสื่อสารในปัจจุบันทำให้การดูแลสุขภาพก้าวไกลในหลายๆ ด้าน เทคโนโลยีได้แทรกซึมเข้าไปในขั้นตอนและกระบวนการให้บริการทางการแพทย์ต่างๆ เช่น การตรวจวินิจฉัย การให้คำปรึกษา การผ่าตัด ฯลฯ เมื่อความรู้ทางด้านการแพทย์ถูกนำมาผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงส่งผลให้บริการด้านสาธารณสุขมีความครอบคลุม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลแม่นยำมากยิ่งขึ้น

Telemedicine หรือ โทรเวชกรรม หรือการแพทย์ทางไกล ครอบคลุมถึงการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อนำข้อมูลทางการแพทย์จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งและช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการทางการแพทย์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น VDO Conference, Smartphone, Application/ Platform ต่างๆ เป็นต้น Telemedicine จึงเป็นตัวอย่างของการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้กับงานด้านสาธารณสุขเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีอย่างทั่วถึงโดยไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางไปโรงพยาบาล

Telemedicine เติบโตและได้รับความนิยมอย่างมากในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ให้บริการรายใหญ่คือ Teladoc ที่เริ่มธุรกิจจากการให้คำปรึกษาผ่านระบบโทรศัพท์จนปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น VDO Call โดย Teladoc มีสมาชิกกว่า 20,000,000 บัญชี และลูกค้าองค์กรกว่า 10,000 บริษัทซึ่งรวมถึงบริษัทใน Fortune 500 กว่า 220 บริษัทอีกด้วย หรือ บริษัท Babylon Health จากประเทศอังกฤษ และบริษัท Ada Health จากประเทศเยอรมนีที่ได้นำปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์อาการป่วยเบื้องต้นของผู้รับบริการก่อนจะส่งต่อเพื่อเข้าพบและพูดคุยกับแพทย์แบบ VDO Call เช่นเดียวกัน หรือในประเทศจีนเอง Ping An Group ก็ได้เปิดตัว Ping An Good Doctor ซึ่งเป็น Application บนมือถือที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถค้นหาแพทย์ ปรึกษา และนัดหมายแพทย์แบบออนไลน์อีกทั้งยังให้คำปรึกษาเบื้องต้นผ่านการตอบคำถามด้วย A.I. และเมื่อผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาหรือเวชภัณฑ์ต่างๆ ก็สามารถสั่งซื้อเพื่อให้จัดส่งไปที่บ้านได้

สำหรับประเทศไทยธุรกิจ Telemedicine ก็กำลังเติบโตและมีผู้เล่นเข้ามาให้บริการเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Startup อาทิเช่น See Doctor Now, Chiiwii Live, Ooca ฯลฯ หรือเครือโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่างสมิติเวชที่ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรเปิดตัว Samitivej Virtual Hospital เพื่อให้บริการรักษาทางไกลโดยทีมแพทย์ที่รับให้คำปรึกษาผ่าน VDO Call ตลอด 24 ชั่วโมงร่วมกับการให้บริการ Test @ Home และ Medicine Delivery สำหรับการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เช่น การเจาะเลือดและการจัดส่งเวชภัณฑ์ไปยังที่อยู่ของผู้รับบริการโดยตรง เป็นต้น

ทั้งนี้การให้บริการทางการแพทย์สมัยใหม่ก็เป็นอุตสาหกรรมย่อยของอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ที่ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งใน 10+2 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่โครงการ EEC มุ่งให้การสนับสนุนโดยการต่อยอดจากข้อได้เปรียบของการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และธุรกิจการรักษาพยาบาลที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง โดยมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของโครงการ EEC ก็จะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจ HealthTech ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และธุรกิจ Startup ให้เข้ามาลงทุนในประเทศอันจะช่วยยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการบริการสุขภาพของไทยก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

Telemedicine จึงปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งที่ Accelerating Technologies กับศาสตร์ทางการแพทย์ได้มาบรรจบกันและทำให้เกิดสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ที่นอกจากจะสามารถตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วยังเป็นช่องทางที่ส่งเสริมให้เกิดการดูแล แบ่งปันและสร้างความเสมอภาคด้านโอกาสการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันของภาคสังคมอีกด้วย