文章

University Enterprise

20/07/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

มหาวิทยาลัยถือเป็นแหล่งรวมขององค์ความรู้และบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ อันเป็นรากฐานสำคัญในการผลิตงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่จะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของโลกในอนาคต อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการนำผลงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ หลายมหาวิทยาลัยจึงหันมาให้ความสนใจกับแนวความคิด University Enterprise หรือการผลักดันผลงานวิจัยให้เกิดการขยายผลไปสู่การประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ผ่านทางการจัดตั้งบริษัทลูกในรูปแบบ University Startups หรือ Spinoffs นั่นเอง

ทั้งนี้ ผู้เขียนพบว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศนั้นมีการผลิตผลงานเชิงนวัตกรรมภายใต้เครือข่ายของมหาวิทยาลัยก่อนที่จะแยกตัวออกมาพัฒนาเป็นธุรกิจ ตัวอย่างเช่น MIT มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเทคโนโลยีที่ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐและองค์กรเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมและได้ก่อตั้ง The Martin Trust Center ซึ่งเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจให้กับสตาร์ตอัพจากรั้วมหาวิทยาลัย อาทิ Strip บริษัทซอฟต์แวร์ด้านการเงิน และ Dropbox บริษัทผู้ให้บริการพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี มหาวิทยาลัย KU Leuven จากประเทศเบลเยียมที่ได้บ่มเพาะบริษัท spin-off รวมกว่า 135 บริษัท ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนให้นักวิจัยมีบทบาทในการจัดทำแผนธุรกิจ หาเงินมาลงทุน และนำนวัตกรรมมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ภาคการศึกษาเองก็ต่างเริ่มตื่นตัวในการนำเอางานวิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ที่ตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม ดังสะท้อนจากความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชนในการจัดตั้งโครงการ Club Chula Spin-off ซึ่งมุ่งส่งเสริมสตาร์ตอัพกลุ่ม Deep Tech ที่ได้นำงานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปสร้างเป็นธุรกิจกว่า 50 บริษัท พร้อมกันนี้ยังมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้มีความร่วมมือพันธมิตรภาคธุรกิจในการจัดตั้ง 88 Sandbox Startup Ecosystem ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุนการใช้ความรู้ความสามารถของมหาวิทยาลัยและยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานักธุรกิจ หรือ Mentor ในการช่วยสตาร์ตอัพแปลงความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพบว่ามหาวิทยาลัยของไทยยังมีการเปลี่ยนองค์ความรู้และผลงานวิจัยของคณาจารย์ไปสู่การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ไม่มากนัก เนื่องด้วยอุปสรรคในกระบวนการขยายผลงานวิจัยที่มีคุณค่า ขาดเม็ดเงินลงทุนในการต่อยอดงานวิจัย รวมถึงยังขาดความเชี่ยวชาญในการทำแผนการตลาดแบบครบวงจร ส่งผลให้ความร่วมมือ/ ช่วยเหลือจากบริษัทภาคเอกชนที่มีความเข้าใจในความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนการสร้างธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานและสามารถ scale-up ธุรกิจให้เติบโตได้นั่นเอง

คงมิอาจปฏิเสธได้ว่า กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมมาเป็นธุรกิจซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยนั้นนับเป็นปัจจัยส่งเสริมสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ไม่เพียงแต่ภาครัฐที่ควรเร่งให้มีการสร้างเครือข่ายงานวิจัย (R&D) และระบบนิเวศสำหรับพัฒนานวัตกรรมที่ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเองก็ควรเข้ามาช่วยในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนลงทุนในนวัตกรรมที่มีศักยภาพไปพร้อมๆกัน ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังก็จะช่วยให้มหาวิทยาลัยของไทยสามารถเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงทฤษฎีไปสู่การประยุกต์ใช้จริง อันจะช่วยสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้อย่างแท้จริง