Articles

SMART WEARABLE

22/07/2020

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ความนิยมของอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ หรือ Smart Wearable เช่น Smart Watch, Wristband, Activity Tracker ฯลฯ ที่ปัจจุบันนับเป็นอุปกรณ์ที่แทบขาดไม่ได้ในกลุ่มคนรักสุขภาพเป็นตัวสะท้อนถึงการเติบโตของตลาด Internet of Things หรือ IoT ฝั่งผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เพราะนอกเหนือไปจากการสวมใส่บนข้อมือแล้ว Smart Wearable ยังมีอีกหลากหลายรูปแบบ อาทิ แว่นตา สร้อยคอ เสื้อผ้า รวมถึง Body Sensor ต่างๆ ซึ่ง IDC ก็ได้เปิดเผยข้อมูลประมาณการตลาด Wearable Devices ทั่วโลก (ข้อมูลปรับปรุงล่าสุดภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19) ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 และมีผู้เล่นในตลาดที่สำคัญ ได้แก่ Apple, Samsung, Garmin, Fitbit, Huawei และ Xiaomi ตามลำดับ

การเติบโตของตลาด Wearable Devices ในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากต้นทุนทางเทคโนโลยีที่ต่ำลง รวมถึงการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่ผลักดันให้เกิดการแข่งขันทั้งทางด้านราคาและคุณภาพ ทั้งนี้ Smart Wearable ก็ถูกนำไปใช้ทางการแพทย์ และการกีฬาอย่างกว้างขวาง เช่น การใช้ Smart Bar ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจจับมะเร็ง และวัดระดับความเครียด หรือ Smart Footwear สำหรับตรวจจับการเคลื่อนไหว และการเผาผลาญแคลอรี่ ฯลฯ เมื่ออุปกรณ์ทางการแพทย์เหล่านี้ถูกเชื่อมต่อเข้ากับสัญญาณอินเตอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ก็จะเกิดเป็น Internet of Medical Things (IoMT) ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลสุขภาพแบบ Real Time จนกลายเป็น Healthcare Big Data ที่สามารถนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในอนาคตได้

การแพร่ระบาดของ COVID-19 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดกระแสใส่ใจและดูแลสุขภาพซึ่งนอกจากจะส่งผลทำให้ยอดขายของ Wearable Devices เติบโตมากกว่าร้อยละ 30 ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 แล้วยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ และทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันกลับมาตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Healthcare ของตนให้ก้าวหน้าโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติร่วมกับนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ต่างๆ ซึ่งอุปกรณ์ IoMT รวมถึง Healthcare Big Data ก็จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับความสามารถการให้บริการ Digital Healthcare ให้เต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น

อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่ภาครัฐและโครงการ EEC มุ่งให้การส่งเสริมเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมการแพทย์เดิมของไทย ซึ่งข้อมูลสุขภาพจากอุปกรณ์ IoMT ก็จะช่วยตอบโจทย์การจัดการดูแลสุขภาพที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละบุคคลและการรักษาเชิงป้องกันเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลสัญญาณชีพแบบ Real Time จาก Smart Wearable ยังสามารถนำมาใช้ร่วมกับ AI ในขั้นตอนการตรวจรักษาและการวินิจฉัยโรคได้ เช่น การตรวจหาอาการของผู้ติดเชื้อ COVID-19 รวมถึงการเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการ โดยการตรวจวัดระดับอุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ คลื่นชีพจรที่ผิดปกติ ฯลฯ ตลอดจนการนำข้อมูลที่จัดเก็บจาก IoMT มาต่อยอดจนเกิดเป็นสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลส่วนบุคคลเข้ากับฐานข้อมูลสุขภาพของภาครัฐหรือบริษัทประกันภัยต่างๆ รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น การตรวจจับความผิดปกติของสัญญาณชีพเพื่อให้บริการ Personal Emergency สำหรับเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน เป็นต้น

ในอนาคตเมื่อโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยี 5G ถูกพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบก็จะทำให้การใช้อุปกรณ์ IoT แพร่หลายและเติบโตมากยิ่งขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรมและตลาดผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม หัวใจที่แท้จริงของการพัฒนาก็ยังคงเป็นการนำโครงสร้างพื้นฐานมาต่อยอดโดยการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงจนเกิดเป็นอุตสาหกรรมและบริการใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนในยุคปัจจุบัน และก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศในระยะยาวนั่นเอง