Articles

REGULATORY SANDBOX

21/08/2019

ยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงจนถูกเรียกว่าเป็นยุคแห่ง VUCA ที่ประกอบไปด้วยความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) พลังของเทคโนโลยีทำให้หลายอุตสาหกรรมเปลี่ยนโฉมหน้าจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง หลายประเทศทั่วโลกจึงต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันขึ้นมาทดแทนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการผลิตต่างๆ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายส่วนใหญ่ถูกตราขึ้นโดยอ้างอิงจากกระบวนการหรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งเมื่อประกอบกับขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายที่ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างเชื่องช้าและเต็มไปด้วยข้อจำกัด หลายครั้งจึงเกิดปัญหากฎหมายหรือกฎระเบียบล้าสมัยไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงหรือซ้ำร้ายอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องรับบทบาทผู้อำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน (Facilitator) ไปพร้อมๆ กับบทบาทการเป็นผู้ควบคุมกฎ (Regulator) เพื่อความถูกต้องเป็นธรรมในเวลาเดียวกัน

กลไก Regulatory Sandbox จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นสนามทดสอบรูปแบบการทำธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการที่เกิดจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้แนวคิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการทดลองและทดสอบที่อนุโลมให้เกิดความผิดพลาดโดยที่ไม่สร้างผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ

จากการศึกษาข้อมูล ผู้เขียนพบว่าหลายประเทศทั่วโลกต่างก็นำแนวคิดสนามทดสอบมาปรับใช้ เช่น Monetary Authority of Singapore (MAS) ได้เปิดโอกาสให้บริษัท Startup เข้าร่วมทดลองให้บริการทางการเงินเพื่อช่วยส่งเสริมเป้าหมายของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลาง FinTech ของภูมิภาค สำหรับประเทศไทยหน่วยงานภาครัฐต่างก็ริเริ่มโครงการ Regulatory Sandbox เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ที่ประกาศใช้แนวปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2559 สำนักงาน กสทช. หรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ERC) ที่ปัจจุบัน WHAUP ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ WHA Group เองก็ได้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ประเภททดสอบ Smart Microgrid ภายในนิคมอุตสาหกรรม WHA ESIE3 ที่ตั้งอยู่ใน จ. ชลบุรี ซึ่งเป็นเขตพื้นที่โครงการ EEC ด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น โครงการ EEC ยังกำหนดให้มีพื้นที่สำหรับการทดสอบโดยเฉพาะภายในเมืองนวัตกรรมภาคตะวันออก หรือ EECi เพื่อเป็นแหล่งรวมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการทดสอบที่สามารถรองรับการขยายผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ (Translational Research Infrastructure) โดยการผ่อนปรนข้อจำกัดและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค อาทิเช่น การเปิดโอกาสให้มีการทดสอบเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติ การทดลองเพื่อพัฒนา AI สำหรับอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น อันจะช่วยแก้ปัญหาด้านกฎระเบียบ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการ ตลอดจนช่วยลดระยะเวลาการออกสู่ตลาดของเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ได้

Regulatory Sandbox จึงเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพสำหรับภาครัฐในการส่งเสริมและกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้พัฒนานวัตกรรมกับหน่วยงานที่กำกับดูแลอันจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการและลดความกังวลใจของนักลงทุน อีกทั้งยังทำให้บุคลากรของหน่วยงานรัฐและผู้กำหนดนโยบายเกิดการเรียนรู้และความเข้าใจอันจะนำไปสู่การพัฒนากฎระเบียบที่ทันสมัยโดยอ้างอิงจากผลการทดสอบและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้รับจากการทดลองอีกด้วย

โครงการนำร่องที่เกิดขึ้นภายใต้ Regulatory Sandbox จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของภาครัฐที่จะปฏิรูประบบราชการไปสู่ภาครัฐ 4.0 ที่มีความทันสมัย เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง อำนวยความสะดวก เปิดกว้าง และพร้อมเผชิญกับความท้าทายของ VUCA แห่งโลกในยุคศตวรรษที่ 21 นี้นั่นเอง