Articles

GBA TO EEC

07/08/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

Trade และ Tech War ระหว่างจีนกับสหรัฐทำให้นักลงทุนหลายกลุ่มพิจารณาโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังประเทศไทย หนึ่งในนั้นคือ นักลงทุนจากโครงการ The Greater Bay Area หรือ GBA ที่ครอบคลุมพื้นที่ของเกาะฮ่องกง มาเก๊า และอีก 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง

จากการศึกษาข้อมูล ผู้เขียนพบว่า ในปี 2561 GDP ของโครงการ GBA มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคิดเป็นร้อยละ 13 ของ GDP ทั้งประเทศของจีนในขณะที่มีจำนวนประชากรเพียงประมาณ 70 ล้านคนหรือร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น โครงการ GBA จึงมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้โครงการ GBA ปรากฏอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2559-2563) โดยเป็นการต่อยอดจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ Pearl River Delta หรือ PRD ที่ครั้งนึงเคยช่วยพลิกฟื้นพื้นที่เกษตรกรรมทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีนให้กลายมาเป็นเขตอุตสาหกรรมและฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญซึ่งโครงการ GBA เองก็มุ่งที่จะยกระดับพื้นที่เศรษฐกิจดังกล่าวให้สามารถเชื่อมกับโลกภายนอกมากยิ่งขึ้นเพื่อทำให้ประเทศจีนกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงิน นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่

ปัจจุบันรัฐบาลจีนจึงเร่งพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ เส้นทางรถยนต์เชื่อมระหว่างฮ่องกง–มาเก๊า–จูไห่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าให้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางฮ่องกง–เสินเจิ้น–กวางโจวเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวที่จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายรถไฟฟ้าความเร็วสูงไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งตามที่นโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) กำหนดเอาไว้อีกด้วย

การเชื่อมโยงกับภูมิภาค CLMVT ที่ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย จึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ GBA และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนชาวฮ่องกง เซิ้นเจิ้นและกวางตุ้งหลายรายสนใจที่จะเข้ามาลงทุนด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย เนื่องจากโครงการ EEC สามารถเชื่อมโยงกับโครงการ GBA และระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ BRI ของจีนเป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลฮ่องกงก็ได้มาเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (HKETO) ที่กรุงเทพฯ อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นถึงศักยภาพและความมั่นใจต่อประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางทางการค้าและการลงทุน รวมถึงองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง หรือ HKTDC ก็ได้มีการลงนามใน MOU ร่วมกับคณะกรรมการ BOI สำหรับความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งด้านคมนาคม โทรคมนาคม สาธารณูปโภค ฯลฯ ความต่อเนื่องของนโยบายและการกำหนดหลักเกณฑ์อย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะด้านกฎหมายและข้อบังคับก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถมั่นใจว่าธุรกิจจะดำเนินการหรือขยายต่อไปได้ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ One-stop Service ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการจัดตั้งธุรกิจ ข้อมูลข่าวสารและการสนับสนุนแก่ผู้ลงทุนกลุ่มต่างๆ ที่สนใจซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องตื่นตัวและตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การกำหนดกลยุทธ์และการลงมือปฏิบัติตามแผนงานที่เหมาะสมร่วมกันก็จะช่วยให้ประเทศและผู้ประกอบการชาวไทยสามารถใช้จุดแข็งและข้อได้เปรียบที่มีอยู่พลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสและคว้าชัยชนะท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งที่คาดกันว่าน่าจะยืดเยื้อและไม่จบลงในระยะเวลาอันใกล้นี้