文章

HUMAN-AI SYMBIOSIS

01/04/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ยุคที่ AI กำลังแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและองค์กรระดับโลกหลายแห่งต่างได้มีการนำเอา AI มาใช้ในกระบวนการทำงานอย่างแพร่หลาย โดยอ้างอิงจากผลการสำรวจของบริษัท McKinsey ในปี 2023 ชี้ให้เห็นว่า เทรนด์ของการทำงานได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยปัจจุบันมีองค์กรชั้นนำกว่า 60% ที่ได้เริ่มนำเอา Generative AI มาใช้กับการทำงานภายในองค์กร ทั้งนี้ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ จึงเกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ต่อแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายต่างมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่า AI จะไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนกระบวนการทำงานและแทนที่ตำแหน่งงานของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง (Automation) แต่ในทางกลับกัน AI จะเข้ามาเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของมนุษย์ (Augmentation) ดังเห็นได้จากรายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ Human-AI Symbiosis ที่ระบุว่า การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้การตัดสินใจของมนุษย์และช่วยเสริมศักยภาพในการทำงานให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น เมื่อ AI ได้รับ Feedback จากมนุษย์และสามารถพัฒนาข้อมูลที่ช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ เพราะฉะนั้น AI จึงมีบทบาทเสมือนหนึ่งเป็นคู่คิดของมนุษย์ มากกว่าที่จะกลายเป็นคู่แข่งสำหรับการทำงานในยุคดิจิทัล

ทั้งนี้ ผลกระทบในเชิงลบอาจเกิดกับกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้เตรียมพร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยในปัจจุบัน เริ่มมีหลายองค์กรที่ใช้ AI เป็นผู้ช่วยในการทำงานของพนักงานภายในองค์กร เช่น การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคาดการณ์แนวโน้มหรือความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งนำเสนอทางเลือกเพื่อประกอบการตัดสินใจ หรือ การช่วยตรวจสอบความผิดพลาด รวมถึงการช่วยแนะนำหรือให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกแบบและวางแผน ตลอดจนการเป็นผู้ช่วยในการจดบันทึก นัดหมาย และรวบรวมข้อมูล เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกัน ระหว่างมนุษย์และ AI อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมซึ่งกันและกันภายใต้แนวคิด Human-AI Symbiosis ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับการปรับใช้ Human-AI Symbiosis ให้เข้ากับชีวิตการทำงานรูปแบบใหม่คือ การนำ AI มาช่วยเหลืองานด้านต่าง ๆ ของแผนกทรัพยากรบุคคล อาทิ การคัดกรองผู้สมัคร (Candidate Screening) ด้วยการช่วยวิเคราะห์ประวัติและใบสมัครงานเพื่อจัดอันดับและแนะนำผู้สมัครที่เหมาะสมกับตำแหน่งงาน หรือ การคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะสูญเสียบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและการวางแผนกำลังคน รวมถึงการใช้ Chatbot ในการช่วยตอบคำถามพนักงานเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัทเพื่อให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและลดภาระงานของแผนกทรัพยากรบุคคล ตลอดจนการพัฒนาการเรียนรู้ส่วนบุคคล (Personalize Learning) ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลพนักงานและแนะนำหลักสูตรที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่าการใช้ AI ไม่เพียงแค่เป็นเครื่องมือสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพของงานในแผนกทรัพยากรบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ช่วยที่ดีที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรอันเป็นทรัพยากรสำคัญของทุกองค์กรในการขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทได้อย่างยั่งยืน

แนวคิด Human-AI Symbiosis จึงถือเป็นการช่วยตอกย้ำความเชื่อที่ว่า เทคโนโลยี AI ไม่ได้จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่เป็นเสมือนหนึ่งคู่คิดของมนุษย์ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระงานและเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้มีเวลาฝึกฝนและพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต มนุษย์จะต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมและใช้งาน AI เพื่อดึงศักยภาพของ AI มาช่วยส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดความคิด รวมถึงยกระดับการตัดสินใจให้มีประสิทธิภาพอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน