文章

GREEN RECOVERY

02/11/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และรูปแบบการดำเนินชีวิต รวมถึงวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั่วโลกนั้น สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบเดิมที่คำนึงถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากกว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นนำมาซึ่งปัญหาในปัจจุบันที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจนไม่อาจละเลยได้

ด้วยเหตุนี้ ทั่วโลกจึงหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเกิดเป็นเทรนด์เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ตามแนวคิดการฟื้นฟูสีเขียว หรือ Green Recovery ที่เป็นการพลิกฟื้นรวมถึงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกันกับการสร้างงานสร้างรายได้ พร้อมทั้งยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนโดยที่ต้องไม่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและสร้างภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อลดความเสียหายและมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โดยที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกต่างก็มีการกำหนดนโยบายสนับสนุนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจตามแนวคิดการฟื้นฟูสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการสร้างแรงจูงใจผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินทุนอุดหนุนสำหรับโครงการที่พัฒนาขึ้นตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิเช่น แผนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน หรือ Singapore Green Plan 2030 ของประเทศสิงคโปร์ที่ภาครัฐวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างเมืองสีเขียวต้นแบบโดยมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งให้การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว หรือ นโยบาย Green New Deal ของประเทศเกาหลีใต้ที่มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการจัดการความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสีเขียวในโครงสร้างพื้นฐานและการฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงการสนับสนุนโครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การเดินทางและการขนส่งสีเขียว (Green Mobility) เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาก็ได้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG Economy) ซึ่งเป็นโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม และความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ โดยนำวิทยศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดความได้เปรียบของประเทศไทยในด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การก้าวไปสู่ BCG Economy นั้นจำเป็นต้องอาศัยการผสานความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำเพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง รวมถึงภาครัฐเองก็ต้องให้การสนับสนุนผ่านมาตรการส่งเสริมทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคธุรกิจ อีกทั้งยังต้องทำการปลดล็อคกฎหมายและปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้ออำนวย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ตามเป้าหมายของประเทศ

สุดท้ายนี้ แม้ว่าการขับเคลื่อนจะเริ่มต้นจากภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ธุรกิจขนาดกลางและเล็กเองก็จำเป็นต้องตื่นตัวเพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนเองก็ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ตามโมเดล BCG Economy ของประเทศให้เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบนั่นเอง