文章

DATA-DRIVEN ORGANIZATION

27/04/2022

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลปริมาณมหาศาลและเนื่องด้วยพลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เราสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ในหลากหลายมิติ อีกทั้งยังสามารถนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ข้อมูลจึงเป็น Strategic Asset อันมีค่าและเป็นเข็มทิศนำทางในการดำเนินธุรกิจขององค์กร

เมื่อข้อมูลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ หลายองค์กรทั่วโลกจึงต่างตั้งเป้าสู่การขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) หรือการนำข้อมูลมาใช้ในกระบวนการทำงานและการตัดสินใจที่จะขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางต่างๆ แทนการตัดสินใจจากประสบการณ์หรือสัญชาตญาณ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการนำข้อมูลในอดีตมาคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งทำให้สามารถวางแผนรับมือได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมถึงสร้างให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ตลอดจนนำพาไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย

หากพูดถึงบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการนำข้อมูลมาใช้เป็นหลักในการดำเนินงานนั้นคงหนีไม่พ้นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากฝั่งอเมริกาอย่าง Facebook, Amazon, Apple, Netflix, Google หรือฝั่งจีนอย่าง Baidu, Alibaba, Tencent แต่ในความเป็นจริงแล้วบริษัท Non-Tech ก็มีการปรับตัวนำข้อมูลมาใช้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเช่นเดียวกัน อาทิเช่น ธุรกิจร้านกาแฟ Starbucks ที่นำข้อมูลจากระบบ Loyalty Program และอุปกรณ์ IoT ภายในร้านมาใช้ในการบริหารงานต่างๆ เช่น การเลือกพื้นที่เปิดสาขาใหม่ การสร้างสรรค์เมนูและผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือแม้แต่การบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าในร้านก่อนที่อุปกรณ์เหล่านั้นจะชำรุด หรือ แบรนด์อุปกรณ์กีฬา Nike ที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์และสร้างประโยชน์ในทุกกระบวนการไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุ การวางแผนการผลิต การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การปรับเปลี่ยนหน้าร้านให้ตรงใจลูกค้าในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ความท้าทายในการพัฒนาองค์กรให้เป็น Data-Driven Organization ไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนในเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์เท่านั้น แต่หัวใจสำคัญที่จะนำพาองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำเร็จนั้นเป็นเรื่องของการสร้างวัฒนธรรมในองค์กรให้มุ่งสู่การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Culture) ซึ่งปลูกฝังให้บุคลากรให้ความสำคัญกับการจัดการ การวิเคราะห์ และการนำข้อมูลมาใช้ในการดำเนินงาน โดยการสร้างวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งนั้นต้องเริ่มต้นจากผู้บริหารขององค์กรที่เล็งเห็นความสำคัญของการใช้ข้อมูลและนำมากำหนดเป็นกลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อให้ทั้งองค์กรมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน นอกจากนี้ ผู้บริหารยังต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ทุกคนปฏิบัติตาม

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ พนักงาน โดยเบื้องต้นองค์กรสามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจาก 4 องค์ประกอบ ได้แก่ Engage ให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมผ่านการสร้างทัศนคติ (Mindset) ให้พนักงานทุกระดับตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการจัดเก็บและนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในการทำงานของตนเอง จากนั้นเป็นการ Educate เพื่อเตรียมความพร้อมให้พนักงานมีทักษะที่จำเป็นทั้งทักษะด้านข้อมูล (Data Literacy) และทักษะในการใช้เครื่องมือต่างๆ โดยระหว่างทางอาจต้องคอย Eliminate สิ่งที่เข้ามาขัดขวางไม่ว่าจะเป็นคนหรือกระบวนการก็ตาม และสุดท้ายคือ Enable ให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลตามระดับสิทธิ์เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจ

สุดท้ายนี้ ลำพังคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืน ภารกิจในการก้าวไปสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนั้นจะสำเร็จได้จะต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกคนในองค์กรนั่นเอง