文章

INNOVATION BATTLES FOOD CRISIS

17/05/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อไม่นานมานี้ ทางองค์การอาหารและเกษตรของสหประชาชาติ (FAO) ร่วมกับโครงการอาหารโลก (WFP) เตือนภัยการลุกลามอย่างน่ากลัวของภาวะทุพโภชนาการทั่วโลกและความเสี่ยงวิกฤตอาหารใน 18 ประเทศ อันเป็นผลจากหลายเหตุปัจจัยตั้งแต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตของภาคการเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากรก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เข้ามาเพิ่มให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน อีกทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังเข้ามาตอกย้ำสถานการณ์ความขาดแคลนให้ตึงเครียดขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ท่ามกลางวิกฤตความมั่นคงทางอาหารทั่วโลกกำลังเผชิญ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นพลังสำคัญในการกอบกู้วิกฤตการณ์นี้ สืบเนื่องจากอุปสรรคของการเกษตรแบบดั้งเดิมที่เน้นการใช้แรงงานคนและสัตว์ รวมถึงการพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศเป็นหลักทำให้เกิดเป็นข้อจำกัดหลายประการที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตและประสิทธิภาพการผลิต การเปลี่ยนมาใช้การเกษตรแนวใหม่จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยปลดล็อคความท้าทายและเพิ่มประสิทธิภาพแบบครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต อาทิ การใช้ Drone สำหรับวิเคราะห์สภาพพื้นที่เพื่อวางแผนการเพาะปลูกและทดแทนแรงงานคนในการพ่นปุ๋ย การใช้ IoT Sensor เพื่อจัดเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ การใช้ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงกระบวนการได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมเพื่อปรังปรุงพันธุ์พืชให้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและมีผลผลิตสูงขึ้น เป็นต้น

นอกเหนือจากด้านการเกษตร ในปัจจุบันยังมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการทำปศุสัตว์ที่ประสบความสำเร็จมากมาย โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย คือ การสร้าง “แหล่งอาหารทางเลือก” ขึ้นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้น เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ในห้องปฏิบัติการ (Cultured Meat) การผลิตโปรตีนจากแมลง (Insect Protein) การเปลี่ยนอากาศหรือแก๊สให้เป็นเนื้อสัตว์เทียม (Air Protein) ที่เป็นการผนวกความรู้ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (SynBio) เข้ากับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอาหารอย่างกลมกลืน เป็นต้น โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาความอดอยากและความขาดแคลนอาหารแต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ทั้งนี้ อีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจในการรับมือกับวิกฤตอาหารคือการพัฒนาระบบการกระจายอาหารควบคู่ไปกับการลดการสูญเสียอาหารในห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีการติดตามและเทคโนโลยีบล็อกเชนที่เพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการผลิต การขนส่งและการจัดจำหน่าย หรือการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารได้นานขึ้น นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งและสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนขยะอาหาร (Food waste) ให้กลายเป็นสินค้ามีมูลค่า เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งช่วยส่งเสริมความสามารถในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าวิกฤตอาหารจะเป็นปัญหาที่ท้าทายและซับซ้อน แต่การเอาชนะมันยังคงเป็นไปได้ โดยโลกต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัย และประชาชน รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้สามารถเอาชนะวิกฤตได้ และถึงแม้ว่าประเทศไทยดูคล้ายห่างไกลคำว่า "ขาดแคลนอาหาร" แต่ก็ใช่ว่าเราควรเพิกเฉยต่อวิกฤต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทานอาหารของไทย ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่เปราะบางต่อภาวะขาดแคลนอาหารยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะการรักษาสถานะ “ครัวของโลก” และร่วมสร้างอนาคตที่ลูกหลานของเรามีอาหารเพียงพอและปลอดภัยขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของเราทุก ๆ คน