文章
Collaborative Intelligence
28/08/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
คงมิอาจปฏิเสธได้ว่าศตวรรษที่ 21 นั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างระบบอัตโนมัติ (Automation), Internet of Things (IoT) รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาผสมเข้ากับโลกการผลิตอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่นับวันจะยิ่งมีศักยภาพ ทำงานได้หลากหลายและสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจและถูกคาดว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกนำมาใช้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI นั้นไม่เพียงแต่ช่วยเสริมประสิทธิภาพในกระบวนการทำงาน อีกทั้งยังได้เข้ามาเปลี่ยนแนวการทำงานแบบเดิมๆ และมีแนวโน้มที่จะเข้ามาทดแทนงานของมนุษย์หลายประเภทด้วยกัน ทั้งนี้ Carl Benedikt Frey และ Michael A. Osborne นักวิจัยมหาวิทยาลัย Oxford ได้คาดการณ์ว่างานที่ใช้ทักษะด้านความละเอียดประสาทสัมผัสและการมองเห็น ความคิดสร้างสรรค์ และความฉลาดทางสังคม ต่ำจะมีโอกาสที่จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีถึงร้อยละ 99 เลยทีเดียว
การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยี AI ในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างเช่น Chatbot อัจฉริยะอย่าง ChatGPT, Microsoft Bing Search Engine หรือ Recommendation Engine ของ YouTube จึงเป็นเหมือนเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึงบทบาทของเทคโนโลยี AI ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและจะมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการทำงานในโลกยุคใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การเร่งพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรหรือแรงงานชาวไทยให้มีทักษะในการทำงานร่วมกับ/ ใช้เทคโนโลยียุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการมิอาจมองข้ามได้นั่นเอง
หากพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาบุคลากร ศูนย์วิจัยธนาคารไทยพาณิชย์เองก็ได้เปิดเผยถึงทักษะที่บุคลากรต้องปรับตัวให้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AI ได้ ซึ่งประกอบด้วย (1) Analysis & Innovate: ผู้ที่ต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้นจำเป็นต้องมีทักษะเชิงคิดวิเคราะห์ที่สามารถตั้งสมมติฐาน เชื่อมโยง ควบคู่ไปกับการคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การนำ insight ของข้อมูลไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ การให้บริการ หรือ โมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ (2) Critical Thinking & Reasoning: ทักษะการคิดโดยใช้เหตุผลและตรรกะจะช่วยให้เข้าใจบริบทของข้อมูล และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจ อีกทั้ง การคิดโดยใช้จารณญาณจะทำให้สามารถตลอดจนรู้เท่าทันข้อมูลปลอมหรือข้อมูลที่ถูกบิดเบือนได้ (3) Creativity & Initiate: ความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณ การใช้ความคิดนอกกรอบ หรือ ออกแบบงานใหม่ๆ เป็นทักษะที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ หรือยังทำได้ไม่ดีเท่ามนุษย์ การนำทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์มาใช้นั้นทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาต่อยอดอันจะนำไปสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ (4) Adaptive & Active Learning: เนื่องจากการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ นั้นต้องใช้ทักษะ / แนววิธีคิดการทำงานแบบใหม่ การเรียนรู้และความสามารถในการปรับตัวให้เท่าทันจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม / ธุรกิจ (5) Leadership & Communication: ภาวะผู้นำที่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน และสร้างความเข้าใจ/แรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนการทำงานของทีมนับเป็นทักษะที่จำเป็นเป็นอย่างมากในการทำงานท่ามกลางโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง
ในอนาคตอันใกล้นี้เราคงต้องมีการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ การหากลยุทธ์หรือแผนการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะในการทำงานร่วมหรือใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงมีศักยภาพที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม / ธุรกิจที่ปรับตัวไปเป็นดิจิทัลแล้ว จึงนับเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรได้ในระยะยาวนั่นเอง