文章

Thailand: A Fascinating Investment Destination

12/06/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในขณะที่โลกต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นรอบโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐฯ – จีน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ก็ได้ส่งผลให้การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานโลกได้เปลี่ยนไป รวมถึง Trade-Tech-Security war ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและก่อให้เกิดกระแสการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและการลงทุนครั้งใหญ่

ทั้งนี้ หลายฝ่ายต่างตั้งคำถามถึงทิศทางการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปและผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนของประเทศไทย ซึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าการโยกย้ายดังกล่าวจะส่งผลเชิงบวกต่อประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ BOI ที่ได้เปิดเผยยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในเดือนมกราคม - มีนาคม 2566 เป็นเงินลงทุนกว่า 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 115 เลยทีเดียว

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาดูงานในหลายประเทศ ได้แก่ กัมพูชา เวียดนาม และ สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ทำให้เห็นข้อได้เปรียบด้านการลงทุนของประเทศไทยที่น่าสนใจ ผู้เขียนจึงขอใช้พื้นที่นี้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับจุดเด่นของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายของการโยกย้าย/ ขยายฐานการผลิตและการลงทุนกันค่ะ

(1) ยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของภูมิภาค: ประเทศไทยตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคนี้จึงไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการขนส่งในการกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และลดผลกระทบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ (2) ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมทางบก ทะเล และอากาศที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านไปจนถึงแผนการพัฒนา Landbridge เชื่อมระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือชุมพร-ท่าเรือระนอง หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินที่ในอนาคตจะสามารถเชื่อมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศต่างๆ อาทิ จีน และลาว ตามแผนการพัฒนาของโครงการ BRIs เป็นต้น (3) แรงงานที่มีทักษะ (Skilled Labor): ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีแรงงานที่มีทักษะ-ความชำนาญ และมีค่าแรงที่ยังไม่สูงมากนัก จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (4) นโยบายส่งเสริมด้านการลงทุน: ภาครัฐของไทยได้พยายามดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องผ่านทางโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ EEC ที่ BOI ก็มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี มาตรการส่งเสริมการลงทุน รวมถึง Smart Visa เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมด้านการลงทุนอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น Ecosystem ที่แข็งแกร่งอันเกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐ สถาบันการศึกษา และ ภาคเอกชน ตลอดจน ความมั่นคงทางพลังงานและทรัพยากรน้ำ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สร้างเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้เป็นอย่างดี

คงมิอาจปฏิเสธได้ว่าการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาตินั้นมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากการลงทุนส่วนใหญ่นั้นเป็นการลงทุนระยะยาว ที่ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดการสร้าง-จ้างงานบุคลากรชาวไทย ขณะเดียวกัน ยังช่วยกระตุ้นภาคการส่งออกของประเทศไปพร้อมๆ กัน ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยจะคว้าโอกาสจากข้อได้เปรียบที่มีอยู่ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติอย่างจริงจัง ตลอดจนผลักดันนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่อำนวยความสะดวกและตรงตามความต้องการของนักลงทุนชาวต่างชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนายกระดับไปสู่การเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคได้อย่างแท้จริงนั่นเอง