文章
MUNICIPAL WASTE MANAGEMENT
11/01/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
จากการขยายตัวของประชากรอย่างรวดเร็ว รวมถึงการพัฒนารูปแบบของสินค้าและบริการ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดของเสียจำนวนมาก จนทำให้การจัดการขยะกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยรายงานของ Global Waste Index 2022 ระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นมากกว่า 2.1 พันล้านตัน แต่ขยะที่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสมนั้นมีเพียงแค่ 16% เท่านั้น
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในปี 2021 ขยะมูลฝอยชุมชนรวมทั้งประเทศมีปริมาณ 24.9 ล้านตัน สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียง 32% ในขณะเดียวกัน ขยะที่ไม่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้นั้นมีสูงถึง 68% โดยเกือบครึ่งหนึ่งถูกนำไปกำจัดอย่างผิดวิธี เช่น การลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณะ การเผากำจัดกลางแจ้ง ฯลฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการที่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ แม้ว่าผลจากการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมาจะทำให้การจัดการขยะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจนสามารถเพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะมูลฝอยจาก 19% ในปี 2008 เป็น 32% ในปี 2021 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ที่มีอัตราการรีไซเคิล 60% หรือ สิงคโปร์ที่ 59% ทำให้เห็นว่าประเทศไทยเรายังคงต้องผลักดันเรื่องนี้กันอย่างจริงจังต่อไป
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการบริหารจัดการขยะโดยการนำกลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อลดจำนวนขยะให้เหลือน้อยที่สุดแล้ว เทคโนโลยียังสามารถเข้ามามีบทบาทในการกำจัดขยะโดยการนำมาใช้ประโยชน์ด้านพลังงานผ่านเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากขยะ (Waste to Energy) ที่เป็นการนำขยะมาแปรสภาพเป็นพลังงานทดแทนซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาแบบเชิงรุกที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องปริมาณขยะสะสมที่ส่งผลกระทบต่อทั้งชุมชนและสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากการกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานจากการเพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานทดแทน รวมถึงภาคธุรกิจเองก็ได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย
จากการเดินหน้าพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการขยายตัวของพื้นที่เมืองย่อมส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชากรที่ทำให้เกิดของเสียจากการบริโภคและกิจกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การขับเคลื่อนโครงการด้านการจัดการขยะมูลฝอยจึงเป็นอีกหนึ่งวัตถุประสงค์หลักของโครงการ EEC เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยเมื่อพิจารณาถึงปริมาณขยะสะสมในปัจจุบันประกอบกับปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว การบริหารจัดการด้วยการฝังกลบเช่นเดิมจึงมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้นทั้งด้านการหาพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับการฝังกลบและการยอมรับจากชุมชน การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะประเภทที่เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณขยะก็เป็นหนึ่งแนวทางที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการบริหารจัดการขยะเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งที่จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้นจำเป็นต้องอาศัยการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐและกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเองก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนได้นั่นเอง