文章
SUSTAINABLE FINANCE
04/01/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในอดีตระบบทุนนิยมนั้นถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวก็ได้ก่อให้เกิดการใช้/ ทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างรวดเร็วและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาวะโลกร้อน มลพิษ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการใช้ชีวิตของผู้คน รวมถึงการดูแล รักษา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในระยะยาว
คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ประเด็นความยั่งยืน หรือ Sustainability ถือเป็นความท้าทายอย่างมากที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล/ แก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากพิจารณาถึงแนวทางการผลักดันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน หนึ่งในแนวทางที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลกอยู่ในขณะนี้คงหนีไม่พ้น การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ก็ได้ให้นิยาม Sustainable Finance หรือ Green Finance ไว้ว่าเป็นการเพิ่มกระแสการเงินจากธนาคาร การให้สินเชื่อ การประกันภัย และการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนให้ไหลไปสู่กิจกรรมของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมนั่นเอง
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลกระทบของภัยพิบัติจากธรรมชาติที่ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นก็ทำให้ทั่วโลกต่างตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงส่งผลให้ตลาด Sustainable Finance ทั่วโลกมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติของ Refinitiv บริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินและความเสี่ยงระดับโลกที่ได้เปิดเผยถึงมูลค่า หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (sustainable bonds) ในปี 2021 ที่สูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการเติบโตกว่า 20 เท่าจากมูลค่าหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนในปี 2015 และมูลค่า สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (sustainability-linked loans) ที่มีมูลค่ากว่า 717 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 หรือคิดเป็นการขยายตัวกว่า 3 เท่าจากมูลค่าของปีก่อนหน้าเลยทีเดียว
สำหรับทิศทางการพัฒนาด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ที่แม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากองค์กรและบริษัทชั้นนำของไทยที่มีความพยายามในการเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น WHAUP ผู้นำในธุรกิจสาธารณูปโภค และธุรกิจพลังงานอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกลุ่ม WHA Group ที่ได้มีการเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond เป็นจำนวน 1,800 ล้านบาทในปี 2022 ที่ผ่านมา โดยเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้นี้จะถูกนำไปใช้เพื่อทดแทนเงินลงทุนของ WHAUP สำหรับพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและโครงการใหม่ เป็นต้น
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า Sustainable Finance นั้นเปรียบเสมือนสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการวางรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ไม่เพียงแต่ภาครัฐ และภาคเอกชน ในขณะเดียวกัน ภาคการเงินที่เป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบและเป็นหัวใจของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เองก็เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถตอบโจทย์ความต้องการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันได้ด้วยนั่นเอง