Articles

Exponential Manufacturing Thailand

22/05/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วมงานสัมมนา "Exponential Manufacturing Thailand 2019" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ Singularity University องค์กรศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับโลกจาก Silicon Valley ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งงานสัมมนาจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ Exponential Technology ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) จนเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันและทำให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แตกต่างจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งก่อนๆ ไปอย่างสิ้นเชิง

ภายในงาน นวัตกรและผู้เชี่ยวชาญของ Singularity University ได้พาผู้ร่วมงานไปพบกับเทคโนโลยีล้ำสมัย อาทิเช่น (1) เทคโนโลยีการผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุและการพิมพ์หลายมิติ (Additive 3D Printing) ที่ทำให้กระบวนการผลิตแบบ Mass Production สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่อย่างรวดเร็วและง่ายดาย (2) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และการออกแบบ 3 มิติ ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยการเลียนแบบวิวัฒนาการและโครงสร้างทางธรรมชาติเพื่อช่วยในการตอบโจทย์คุณสมบัติด้านรูปร่าง ความทนทาน ฯลฯ (3) IoTs และ Sensor ทำให้การจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล และการปรับปรุงกระบวนการผลิตสามารถทำได้ในระดับนาทีหรือเกือบเรียลไทม์ (4) หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และ Exoskeleton สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำของกระบวนการทำงาน รวมทั้งช่วยลดความเมื่อยล้าและอาการบาดเจ็บของผู้ปฏิบัติงาน (5) Blockchain ทำให้เกิดการผลิตแบบกระจายอำนาจ การติดตามเพื่อทดสอบความถูกต้องและตรวจสอบย้อนกลับสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนที่ต่ำ (6) Augmented Reality/ Virtual Reality/ Mixed Reality ช่วยเพิ่มการมองเห็น (Visualization) สำหรับขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่ซับซ้อนจึงช่วยลดข้อผิดพลาด และเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการเรียนรู้ (7) Advanced Material, Hyperloop, Cultured Meat และเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงเทคโนโลยีแห่งอนาคตอื่นๆ อีกมากมายที่จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตและชีวิตประจำวันของผู้คน

ผู้เขียนจึงได้ตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตและห่วงโซ่อุปทานแห่งอนาคตไว้บางประการดังนี้ คือ (1) การมาบรรจบกันระหว่างบทบาทผู้ผลิต (Producer) และผู้บริโภค (Consumer) เกิดเป็น "Prosumer" ในคนเดียว (2) ความสามารถในการบริหารจัดการตนเอง (Self-Organizing) และสั่งการโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software-Driven) (3) โครงข่ายของการผลิตที่เชื่อมโยงและไร้รอยต่อ (4) ความยืดหยุ่นและการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความต้องการของผู้บริโภค (5) การผลิตที่เกิดขึ้น ณ ประเทศจุดหมายปลายทาง หรือ ณ จุดบริโภค และ (6) การติดตามและตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน

ช่วงเวลาปัจจุบันจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในยุคที่การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 แพร่หลายไปทั่วโลก การเกิดขึ้นของโครงการ EEC จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศไทยมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่ง อาทิเช่น อุตสาหกรรมการเกษตร ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ฯลฯ รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก เช่น อุตสาหกรรมการบิน การแพทย์ครบวงจร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนเน้นย้ำอยู่เสมอและผู้เชี่ยวชาญของ Singularity University ต่างก็ให้ความสำคัญ คือ การสร้าง Exponential หรือ Growth Mindset หรือ กรอบความคิดแบบเติบโต ที่จะทำให้บุคคลมีความกล้าหาญและความเชื่อมั่นเมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน รวมถึงมีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนอันเป็นกุญแจสำคัญของการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในโลกยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยสิ่งพลิกผันและความผันแปรตลอดเวลานั่นเอง