Articles

SMART FARMING

27/03/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดกว่า 320.6 ล้านไร่ โดยมีประมาณการเนื้อที่ถือครองเพื่อการเกษตรกรรมเท่ากับ 149.2 ล้านไร่ หรือ คิดเป็น 47% ของพื้นที่ทั้งหมด ภาคการเกษตรจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะการเป็นแหล่งสร้างงานที่สำคัญในระดับภูมิภาคเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศกว่าหนึ่งในสามของแรงงานทั้งหมดเป็นแรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตรที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากหลายฝ่ายสะท้อนตรงกันว่า อัตราการเติบโตของภาคการเกษตรไทยเป็นไปได้ช้าสวนทางกับภาคการผลิตและบริการอื่นๆ โดยมูลค่าของภาคการเกษตรคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของ GDP เท่านั้น ตลอดจนเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเน้นการใช้แรงงานคน พึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศ ขาดการวางแผนและการจัดการบริหารที่ดีทำให้ต้องประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตสูงและราคาผลผลิตตกต่ำ

จากการศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ผู้เขียนพบว่า ประเทศเหล่านี้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคการเกษตรอย่างแพร่หลายเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนทางการเกษตร ตัวอย่างเช่น ผลผลิตธัญพืช (Yield) ของประเทศสหรัฐฯ สูงถึง 8,143 kg per hectare และนิวซีแลนด์ 8,384 kg per hectare โดยมากกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 2 เท่า หรือประเทศญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุจึงมีการนำหุ่นยนต์และเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ส่งผลให้สามารถปลูกข้าวได้ถึง 700 – 800 กิโลกรัมต่อไร่ เปรียบเทียบกับของไทยที่อยู่ระหว่าง 400 – 500 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น

นโยบายประเทศไทย 4.0 จึงมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบทั้งการคัดเลือกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการของตลาด และการเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้กลายเป็น เกษตรกร 4.0 หรือ Smart Farmer รวมถึงส่งเสริมการทำการเกษตรอัจฉริยะตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมด้านการเกษตรเพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและพัฒนาภาคการเกษตรของไทยอันจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง มีกินมีใช้ และหลุดพ้นจากความยากจนในที่สุด

โครงการ EEC โดยเฉพาะ EECi และ EECd จึงจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร รวมถึงสนับสนุนบริษัท Startup ต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร (Agri Tech) ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ รวมถึงระบบฐานข้อมูลและการพยากรณ์ที่มีราคาถูกกว่าการนำเข้าและเหมาะสมกับการเกษตรของไทยอันจะช่วยให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรให้ก้าวหน้า

การพัฒนาระบบนิเวศของ Smart Farming จึงมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนทั้ง (1) ภาคเอกชน อาทิเช่น ผู้ให้บริการเทคโนโลยี เช่น หุ่นยนต์ทางการเกษตร เครื่องจักรการเกษตรที่เชื่อมต่อกับระบบสื่อสาร ผู้ให้บริการระบบ IoT , Big Data และ Artificial Intelligence ผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารไร้สาย ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ เป็นต้น (2) ภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาสินค้าการเกษตรแต่ละชนิดในแต่ละช่วงเวลา และ (3) เกษตรกร ที่ต้องปรับเปลี่ยนกรอบความคิดจากการพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศมาเป็นการใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจและการบริหารจัดการให้มากขึ้น

การเปลี่ยนวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมมาเป็นเกษตรอัจฉริยะอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของไทย หากแต่การปรับตัวให้ “ทำน้อยได้มาก” คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในยุคที่คู่แข่งจากทั่วโลกต่างหันมาใช้การค้าเสรี ฐานข้อมูล และการลงทุนวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ