Articles

ENERGY STORAGE SYSTEM

20/12/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน

พลังงานถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศ ทั้งด้านการผลิต การขนส่ง และการบริการต่างๆ การเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคมอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาส่งผลทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทั่วโลกจึงมุ่งค้นหา “พลังงานสะอาด” หรือ “พลังงานทดแทน” เพื่อใช้แทนพลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม แก๊สธรรมชาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานเชิงพาณิชย์ที่ใช้แล้วหมดไป รวมถึงก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยี “พลังงานหมุนเวียน” หรือ “Renewable Energy” นั้นไม่สามารถโดดเด่นขึ้นมาจนกลายเป็นแหล่งการผลิตไฟฟ้าหลักในปัจจุบันได้ คือ ประเด็นเรื่อง “เสถียรภาพ” โดยเทคโนโลยีที่เป็นตัวแปรสำคัญและเชื่อกันว่าจะเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก และแก้ไขปัญหาเนื่องจากอุปสรรคข้างต้นคือ “ระบบกักเก็บพลังงาน” หรือ Energy Storage System ที่จะช่วยให้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สามารถผลิตและจ่ายออกมาใช้งานได้อย่างมีเสถียรภาพเทียบเคียงได้กับการผลิตไฟฟ้าด้วยแหล่งพลังงานดั้งเดิม

จากการศึกษาข้อมูลผู้เขียนพบว่า เทคโนโลยีของ ESS ที่น่าจะมีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูงที่สุดในระยะเวลาอันใกล้นี้ คือ แบตเตอรีชนิด Lithium-ion เนื่องจากมีคุณสมบัติที่หลากหลายจึงสามารถนำไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังมีต้นทุนต่ำลงอย่างรวดเร็วในขณะที่ประสิทธิภาพสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อาทิเช่น ตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป laptop รวมไปถึงการนำไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่เพิ่มมากขึ้นในระยะที่ผ่านมาอีกด้วย

ปัจจุบันทั่วโลกมีกรณีศึกษาการนำ ESS มาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางทั้งในระดับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่และ Prosumer ระดับครัวเรือน ซึ่งการนำ ESS มาใช้ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าร่วมกับเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมพลังงานอันนำไปสู่การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาดมากขึ้น ทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า ตลอดจนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการส่งเสริมให้แต่ละครัวเรือนติดตั้งโซลาร์เซลล์ร่วมกับแบตเตอรี่ทำให้สามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และจ่ายไฟออกมาใช้ตอนกลางคืนซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง หรือ รัฐบาลของประเทศออสเตรเลียที่มีโครงการติดตั้งฟาร์มแบตเตอรี่ร่วมกับฟาร์มกังหันลมเพื่อช่วยในการบริหารจัดการกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน เป็นต้น

รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตจึงส่งผลให้อุตสาหกรรม ESS และ แบตเตอรี ได้รับความสนใจและได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ต้นทุนของ ESS กำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ จากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและการแข่งขันของผู้ผลิตรายใหญ่ในตลาดโลกแต่การใช้งาน ESS ในระบบการผลิตและสำรองไฟฟ้าของประเทศไทยกลับยังไม่แพร่หลายนักเนื่องจากผลตอบแทนยังไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับการลงทุน ส่วนหนึ่งเพราะขาดมาตรการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ รวมถึงกฎระเบียบด้านพลังงานของไทยเรายังไม่เอื้ออำนวยให้ ESS เข้ามามีส่วนร่วมในระบบผลิตไฟฟ้ามากเท่าใดนัก

แนวโน้มการพัฒนาหลังจากนี้จึงขึ้นอยู่กับนโยบายและแผนปฏิรูปด้านพลังงานของภาครัฐที่นอกจากจะเป็นตัวกำหนดทิศทางและความมั่นคงด้านพลังงานของไทยแล้ว ยังจะช่วยส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน และเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบกักเก็บพลังงานของไทย อันจะช่วยลดการนำเข้า พัฒนานวัตกรรม และสร้างรายได้จากเทคโนโลยีภายในประเทศอีกด้วย