Articles

INTELLIGENT ELECTRONICS

17/12/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีพัฒนาการมานานกว่า 50 ปี โดยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจไทยโดยมีมูลค่าการส่งออกอันดับ 1 และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้าม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้โครงสร้างความต้องการใช้งานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้งานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง อุปกรณ์ต่างๆ มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่โหมดอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Devices) และอาศัยการทำงานของระบบอัจฉริยะ (Smart System) ควบคู่ไปกับการใช้งานบนโครงข่ายอินเตอร์เน็ต จากการศึกษาข้อมูล ผู้เขียนพบว่าปริมาณความต้องการวงจรรวม (Integrated Circuit - IC) ที่มีเซ็นเซอร์ ส่วนประมวลผล วงจรความจำ และอื่นๆ เป็นส่วนประกอบสำคัญ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยกว่า 6.6% ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงอัตราการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีของอุปกรณ์ต่างๆ ไปสู่ระบบการทำงานที่มีความเป็นอัจฉริยะมากยิ่งขึ้น อาทิ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่รองรับ IoTs ชิ้นส่วนในยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเทรนด์ของอุปกรณ์อัจฉริยะพบว่า Smartphone, Tablet และ Wearable Devices ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องรวมถึงมีแนวโน้มการขยายตัวไปสู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Smart Appliances) อาทิ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า หุ่นยนต์ดูดฝุ่น เป็นต้น หรือแม้กระทั่งเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์

แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่จำเป็นต้องปรับตัวและยกระดับเทคโนโลยีให้สามารถตอบสนองกับความต้องการที่ซับซ้อนและหลากหลายมากยิ่งขึ้น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) จึงถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีอันจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถคงไว้ซึ่งขีดความสามารถในการแข่งขันในฐานะฐานการผลิตเพื่อการส่งออกอันเป็นจุดเด่นของประเทศไทยมาโดยตลอด รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการออกแบบและการทดสอบที่ครบวงจรและสามารถรองรับการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ได้

การพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และอุตสาหกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ตัวอย่างของความสำเร็จที่เป็นต้นแบบให้กับนานาประเทศทั่วโลก คือ โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย Stanford กับบริษัทใน Silicon Valley ที่กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงหล่อหลอมให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ Startup ที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยจะเป็นแรงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่ส่วนมากอยู่ในกลุ่ม SME สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากผู้ประกอบการในกลุ่มการประกอบ หรือรับจ้างผลิต (OEM) ไปสู่การผลิตที่มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้เอง (ODM) และในท้ายที่สุดก็จะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการสร้างตราสินค้าของตัวเอง (OBM) อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคการผลิตของไทยอย่างแท้จริง

เหมือนที่ผู้เขียนมักพูดอยู่เสมอว่า ช่วงเวลาต่อจากนี้จะเป็นระยะแห่งการเปลี่ยนผ่านที่ท้าทาย การติดตามและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีขั้นสูงก็จะช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและก้าวข้ามความท้าทายในบริบทของโลกยุคดิจิทัลนี้ไปได้ในที่สุด