Articles

Digital Disruption

14/11/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ระยะหลังมานี้เราต่างได้รับรู้ข่าวการปรับตัวของธุรกิจเนื่องจากกระแส Digital Disruption ซึ่งสร้างความตื่นตัวไปทั่วโลก ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นไปอย่างก้าวกระโดดตามกฎของมัวร์ (Moore's law) ที่พยากรณ์ไว้ว่า เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกยุคดิจิทัลจะมีต้นทุนลดลงสวนทางกับประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

โลกของเราก้าวข้ามยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทำให้เรามีนวัตกรรมเครื่องจักรไอน้ำ เครื่องทอผ้า และการผลิตเหล็กซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งต่อๆ มาจนเราเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปิดประตูพรมแดนการสื่อสารไปทั่วโลกในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 โดยการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ใช้เวลาไปไม่ต่ำกว่า 200 ปี แต่ปัจจุบันเรากำลังจะก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ด้วยอัตราที่เร็วกว่านั้นมาก

คุณ Peter Diamandis ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูงของ Singularity University ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้ความรู้และ business incubator ที่ Silicon Valley โดยมุ่งการศึกษาเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดกล่าวไว้ว่า การปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่อนาคต ผู้ที่มองการณ์ไกลและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วได้จะเป็นฝ่ายคว้าโอกาสจากการเติบโตแบบพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรม ผู้ที่อยู่รอดจำเป็นต้องตระหนักและสามารถมองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นแบบก้าวกระโดดไม่ใช่แค่การเติบโตแบบเส้นตรงที่รวดเร็วกว่าปกติ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้สินค้าและบริการรูปแบบใหม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้มากขึ้น และราคาถูกลงจนทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาแข่งขันและ disrupt ผู้เล่นดั้งเดิมในอุตสาหกรรม อาทิ Grab และ DiDi Chuxing ทำให้บริการรถแท็กซี่ปกติต้องปรับตัว เป็นต้น

ดังเช่นที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้เสมอๆ ว่า กรณี Disruption ไม่เหมือน Innovation ที่แค่ไม่พัฒนา แต่ Disruption คือหายสาบสูญไปเลยถ้าไม่ปรับตัว ซึ่งสะท้อนได้จากรายงานของ Credit Suisse และ CNBC ที่มีข้อมูลน่าสนใจตรงกันว่า อายุขัยโดยเฉลี่ยของบริษัทที่อยู่ในดัชนี S&P 500 ในปี 1950 อยู่ที่ประมาณ 60 ปี เปรียบเทียบกับอายุขัยเฉลี่ยของบริษัทในปี 2017 ที่ลดลงเหลือเพียง 15 ปี และมีแนวโน้มว่าจะลดต่ำลงกว่า 10 ปีนับจากนี้อีกด้วย รวมถึงเมื่อพิจารณารายชื่อบริษัทที่อยู่ใน Fortune 500 พบว่ามีเพียง 60 บริษัท หรือ 12% เท่านั้นที่สามารถอยู่รอดในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและขนาดขององค์กรที่ใหญ่เริ่มไม่มีความหมายเมื่อผู้เล่นดั้งเดิมถูกท้าทายโดยผู้ประกอบการรายใหม่ที่สามารถเติบโตด้วยอัตราที่รวดเร็วโดยอาศัยเทคโนโลยีและโมเดลการประกอบธุรกิจที่ต่างออกไปและทำให้คู่แข่งขันไม่ถูกจำกัดขอบเขตแต่เพียงผู้เล่นที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น

ปัจจุบันเราจึงเห็น Disruption ที่ครอบคลุมแทบทุกภาคส่วนทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการบริการ ซึ่งสำหรับประเทศไทยของเรานั้นยังถือว่าโชคดีที่การเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านเกิดขึ้นตามหลังต่างประเทศหลายปี ผู้ประกอบการชาวไทยจึงยังพอมีเวลาเรียนรู้และเตรียมตัวสำหรับกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลแต่ก็ต้องคอยหมั่นสำรวจและสังเกตอยู่เสมอๆ ว่า ธุรกิจของตนเองนั้นกำลังเริ่มถูก Disrupt แล้วหรือไม่ โดยต้องมองทุกอย่างตามความเป็นจริงไม่หลอกตัวเองเพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นนั่นเอง