Articles

EEC & Digital Thailand

14/09/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสศึกษาผลการจัดอันดับความสามารถด้านดิจิทัลปีล่าสุดของทั้ง WEF และ IMD โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับด้านดิจิทัลจาก WEF อันดับที่ 62 จากทั้งหมด 139 ประเทศ และ IMD อันดับที่ 39 จากทั้งหมด 63 ประเทศ ซึ่งผู้เขียนมีข้อสังเกตประเทศที่ได้รับอันดับร่วม 5 อันดับแรกจากการจัดอันดับโดยสถาบันการจัดอันดับชั้นนำทั้งสองได้แก่ สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสวีเดน ตามลำดับ และเมื่อศึกษาข้อมูลผลการจัดอันดับย้อนหลัง ผู้เขียนพบว่า ประเทศสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับเป็นลำดับต้นๆ มาโดยตลอด

ผู้เขียนจึงศึกษายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของสิงคโปร์เพิ่มเติม ซึ่งผู้เขียนพบว่า สิงคโปร์วางแผนการพัฒนาประเทศด้านดิจิทัลมานานนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 จนปัจจุบันที่มีการจัดตั้งหน่วยงาน IDA หรือ Infocomm Development Authority of Singapore ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบดูแลการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปตามวิสัยทัศน์ในการนำพาสิงคโปร์สู่ “Smart Nation” ภายในปี ค.ศ. 2025 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างความได้เปรียบในการเข้าถึงข้อมูลและการเชื่อมโยงด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างอาชีพใหม่ เปิดโอกาสด้านธุรกิจที่หลากหลายและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

ประเทศไทยเองก็อยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมโดยรัฐบาลได้กำหนดแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอันประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งนับตั้งแต่มีการประกาศแผนพัฒนาดิจิทัลเมื่อปี พ.ศ. 2559 ผู้เขียนพบว่า รัฐบาลได้ริเริ่มหลากหลายโครงการ อาทิ การดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐตามยุทธศาสตร์ที่ 1 โครงสร้างพื้นฐาน แผนงานเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐตามยุทธศาสตร์ที่ 4 เรื่องรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ตลอดจนการผลักดันแก้ไขกฎหมายดิจิทัลและปฏิรูปองค์กรที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานต่างๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกรรมดิจิทัลตามยุทธศาสตร์ที่ 6 ตลอดจนกำลังดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ที่ 2 เศรษฐกิจ (Digital Economy) ยุทธศาสตร์ที่ 3 สังคม (Digital Society) และ ยุทธศาสตร์ที่ 5 ทุนมนุษย์

รัฐบาลได้กำหนดอุตสาหกรรมดิจิทัลให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่ EEC และเป็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่ภาครัฐให้การส่งเสริมโดยสนับสนุนและดึงดูดธุรกิจใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรรมสู่อุตสาหกรรม 4.0 และเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศไปสู่ Digital Thailand โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัติโนมัติ อุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น

โครงการ EEC จึงมีบทบาทสำคัญในการยกระดับการพัฒนาด้านดิจิทัลของไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทั้งด้าน Hard และ Soft Infrastructure ตลอดจนเป็น landmark สำคัญที่จะดึงดูดกลุ่ม Tech Giants และ Tech Startups ต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลต่างๆ ภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการถ่ายทอดทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้กับบุคลากรชาวไทย EEC จึงเป็นโครงการต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดดตามแนวทาง Digital Thailand และสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต

ความสำเร็จของ Digital Thailand จึงไม่ได้อยู่ที่การปรับเปลี่ยน เพิ่ม หรือยุบกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เหมือนที่ผ่านมาในอดีต แต่สิ่งที่จำเป็นคือ การผลักดันโครงการต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้านให้ประสบผลสำเร็จ เน้นการวัดผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ ตลอดจนสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเพื่อให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว