Articles

EEC & E-Commerce

12/09/2018

ปัจจุบันพฤติกรรม และ lifestyle ของผู้บริโภคยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ ผู้คนใช้ชีวิตโดยอาศัย Internet และ โทรศัพท์มือถือมากขึ้น ทำให้ตลาด E-Commerce ในประเทศไทยเติบโตมากกว่าร้อยละ 11.4 ต่อปี ระหว่างปี 2557 ถึง 2560 และมีมูลค่าตลาดรวมในปี 2560 กว่า 2.8 ล้านล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนตลาดเป็น B2B ประมาณร้อยละ 60 B2C ร้อยละ 27 และ B2G ร้อยละ 12 ตามลำดับ

ผู้เขียนเคยพูดถึง E-Commerce ในเมืองไทยมาหลายปีเพราะมองเห็นแนวโน้มแล้วว่า E-Commerce จะต้องเข้ามามีบทบาทต่อรูปแบบธุรกิจในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ตลอดจนเชื่อมั่นมาตลอดว่า Alibaba Group จะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า เพราะความได้เปรียบของยุทธศาสตร์ด้านทำเลที่ตั้งของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม หากกล่าวถึงความสำเร็จของอุตสาหกรรม E-Commerce ยังมีอีกอุตสาหกรรมและการบริการที่เป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนและขับเคลื่อนให้ E-Commerce เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นอุตสาหกรรมหลักที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกันกับ E-Commerce ซึ่งก็คือ อุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์นั่นเอง

ตัวอย่างจากประเทศจีน ตลาดการขนส่งและโลจิสติกส์ของจีนมีการแข่งขันที่สูงมากทั้งในด้านราคา ความรวดเร็ว และคุณภาพของบริการทำให้ทุกบริษัทจำเป็นต้องแข่งกันพัฒนาการให้บริการอยู่ตลอด เนื่องจากต้นทุนการขนส่งสินค้าเป็นปัจจัยหลักในการทำกำไรของธุรกิจ E-Commerce ทำให้อุตสาหกรรม Logistics และ E-Commerce ของจีนพัฒนาอย่างก้าวกระโดดควบคู่กันไป ถึงแม้ว่าจีนจะเริ่มมีการพัฒนาอุตสาหกรรม E-Commerce ก่อน แต่ในปัจจุบันทั้งสองระบบกำลังพัฒนาควบคู่กันเพราะเป็นภาคอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลกัน และนำไปสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมทั้ง 2 ประเภทของจีนอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น จีนยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้าน Logistics ร่วมมือกับผู้ประกอบการด้าน E-Commerce อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ เมื่อเกิดการซื้อขายในเวปไซต์แล้ว ทางเวปไซต์ E-Commerce จะส่งข้อมูลของผู้ซื้อไปยังบริษัท Logistics ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินการ และช่วยลดข้อผิดพลาดต่างๆ ไปได้อย่างมาก

หลังมีข่าวผู้นำตลาด E-Commerce ของจีนอย่าง Alibaba Group และ JD.Com ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนเพื่อใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมธุรกิจ E-Commerce ของภูมิภาคอาเซียนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเชิงบวกและลบ ซึ่งผู้เขียนมองว่า ในอนาคตตลาด E-Commerce ของอาเซียนจะต้องเชื่อมเข้ากับตลาด E-Commerce ของจีนและ E-Commerce จะเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจของไทยมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการชาวไทยทั้งผู้ผลิตและผู้ให้บริการด้านการขนส่งโลจิสติกส์จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านคุณภาพ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงต้องสร้างแนวคิดในการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อใช้โอกาสจากกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ผู้เขียนจึงอยากเสนอให้มีการพัฒนาระบบ E-Commerce ของไทย โดยการสร้าง E-Commerce Platform นี้ควรนำโดยภาคเอกชน และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการปลดล็อคและปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนเชื่อมระบบเข้ากับบริษัท  E-Commerce  ของต่างประเทศ อันจะเป็นการช่วยพัฒนาทั้งอุตสาหกรรม E-Commerce และอุตสาหกรรมการบริการขนส่งและโลจิสติกส์ควบคู่กัน และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างบูรณาการระหว่างภาคการเกษตร การผลิต การบริการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในอนาคตอันใกล้ โลก E-Commerce จะเติบโตอย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดด โลกการค้าที่ไร้พรมแดนจะทำให้การแข่งขันสามารถเกิดขึ้นทุกที่ทุกเวลา ซึ่งหากเขาไม่มาบ้านเรา เขาก็อาจอยู่ข้างบ้านและยังส่งของมาขายเราได้อยู่ดี