Articles

EEC & THE SATTAHIP MODEL

01/08/2018

ปัญหาทรัพยากรบุคคลและแรงงานที่สำคัญของประเทศไทย คือบุคลากรยังไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศจึงเกิดคำถามที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถจับคู่ทักษะแรงงานของบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเนื่องจาก 2 Megatrend ที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ (1) การที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ภายในปี 2568 และ (2) การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรม 4.0 และการเข้ามาของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) ระบบอัตโนมัติ (Automation) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งแรงงานทักษะต่ำที่ไม่สามารถปรับตัวและพัฒนาทักษะของตนเองตามอุตสาหกรรม 4.0 ก็จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้

ผู้เขียนได้ลองศึกษาแผนยุทธศาสตร์ของประเทศต่างๆ แล้วพบว่า 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการพัฒนาประเทศของสิงคโปร์คือ ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทักษะแรงงาน โดยคณะกรรมการเศรษฐกิจอนาคต (The Committee on the Future Economy: CFE) ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งบริษัทชั้นนำจากหลากหลายอุตสาหกรรมและบริษัทที่ปรึกษา สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน โดยคณะกรรมการ CFE จะเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำแผนที่อุตสาหกรรม (Industry Transformation Maps: ITMs) และ โครงการ SkillsFuture ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ทำให้การวางแผนผลิตแรงงานทั้งด้านปริมาณและทักษะของสิงคโปร์เป็นไปตามความต้องการอย่างแท้จริงของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพิ่มพูนทักษะการทำงานใหม่ๆ หรือปรับเปลี่ยนทักษะปัจจุบัน จึงสามารถช่วยตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม 4.0 และเกิดเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตการทำงาน (Lifelong Learning) ได้เป็นอย่างดี

รัฐบาลไทยเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงได้เริ่มแผนงานตามโครงการ “สัตหีบโมเดล” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบุคลากรสายอาชีวะเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษโดยการนำระบบการศึกษาแบบคู่ขนาน (Dual Education) ของประเทศเยอรมันและระบบโคเซน (Kosen) ของประเทศญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบ แนวความคิดดังกล่าวกำหนดให้มีการเรียนการสอนและการฝึกปฏิบัติงานจริงควบคู่ไปโดยมีสถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพ และภาคเอกชนผู้เป็นนายจ้างรับผิดชอบร่วมกันเพื่อจัดหลักสูตรการเรียนการสอนที่แบ่งเวลาเรียนและเวลาทำงานในสถานประกอบการไปพร้อมๆ กัน (Work-Integrated Learning) และผู้เรียนสามารถเข้าทำงานกับบริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้นๆ ได้เลยภายหลังสำเร็จการศึกษา ผู้เรียนจึงมีโอกาสได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริง และได้รับการฝึกฝนทักษะที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าเบี้ยเลี้ยง ตลอดจนสวัสดิการต่างๆ จากสถานประกอบการ

ความสำเร็จของสัตหีบโมเดลจะช่วยให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากเม็ดเงินลงทุน โดยช่วยเพิ่มทักษะ ความรู้ความสามารถและการจ้างงานของบุคลากรชาวไทย รวมถึงช่วยยกระดับรูปแบบการศึกษาในระบบอาชีวะ ตลอดจนยกระดับฝีมือช่างเฉพาะทางให้มีทักษะทัดเทียมกับนานาชาติ โดยมีการคาดการณ์เบื้องต้นว่า ความต้องการแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษทั้ง 10+1 อุตสาหกรรมจะสูงถึง 100,000 ตำแหน่งต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น เพื่อให้สามารถรองรับแรงงานและนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในพื้นที่ รัฐบาลจึงกำหนดโครงการพัฒนาเมืองใหม่ให้มีการจัดวางระบบผังเมือง และที่อยู่อาศัยที่ทันสมัย คำนึงถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ ฉบับต่อไปเราก็จะมาคุยกันถึงแนวความคิด Smart City ซึ่งกำลังเป็นกระแสร้อนแรงของยุค Urbanization

บทความนี้ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ วันพุธที่ 1 สิงหาคม 2561 คอลัมน์ Smart EEC: EEC & THE SATTAHIP MODEL